SCGP ศักยภาพระยะยาวยังแข็งแกร่ง แต่ระยะสั้นภาพการฟื้นตัวยังคลุมเครือ

4379 จำนวนผู้เข้าชม  | 

SCGP ศักยภาพระยะยาวยังแข็งแกร่ง แต่ระยะสั้นภาพการฟื้นตัวยังคลุมเครือ


หลังจาก บมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) รายงานผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปีนี้ มีรายได้จากการขาย 31,572 ล้านบาท ลดลงทั้งจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ในอัตรา 17% และ 2% ตามลำดับ ส่งผลให้กำไรสุทธิลดลง 28% YoY และ 11% QoQ มาอยู่ที่ 1,325 ล้านบาท และมีผลให้รายได้จากการขาย 9 เดือนปีนี้ ชะลอตัวลง 13% YoY เหลือ 97,517 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิลดลง 25% YoY มาอยู่ที่ 4,030 ล้านบาท สาเหตุจากราคาขาย และปริมาณขายสินค้าบรรจุภัณฑ์ และเยื่อกระดาษปรับลดลง ทำให้นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ออกมายอมรับว่า รายได้จากการขายทั้งปีน่าจะพลาดเป้าที่วางไว้ 160,000 ล้านบาท

แต่เชื่อว่า รายได้ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องจนถึงปีหน้า เพราะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่มีความต้องการเร่งตัวขึ้น และได้แรงหนุนจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน หนุนให้ราคาบรรจุภัณฑ์ และเยื่อกระดาษเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ขณะเดียวกัน โครงการลงทุนก่อนหน้านี้มีความคืบหน้าหลายโครงการ ทั้งโครงการเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว (Flexible Packaging) ในประเทศไทย เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์แล้วในไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนโครงการรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ ของ Peute ในเนเธอร์แลนด์ พร้อมเปิดโรงงานใหม่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะช่วยให้มีความสามารถจัดหากระดาษและพลาสติกรีไซเคิลเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ขณะที่โครงการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษในประเทศ คาดว่าจะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสแรกปีหน้า

สำหรับแผนลงทุนใหม่ๆ ใน Starprint Vietnam (SPV) ของเวียดนาม คาดว่าจะปิดดีลได้ภายในไตรมาสนี้ และเพิ่งมีการลงทุนใหม่ ใน 2 ธุรกิจ คือ Law Print ผู้ให้บริการบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในสหราชอาณาจักรและยุโรป กับ Bicappa ผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการในอิตาลี เตรียมรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้




ประการสำคัญ การลงทุนใน Law Print ในสัดส่วน 100% ยังจะช่วยเชื่อมต่อกับเครือข่ายผู้จัดหาบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวคุณภาพสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายฐานลูกค้าบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวของ SCGP สู่ตลาดสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรป รวมถึงได้ประโยชน์จากการผสานความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกัน ช่วยเพิ่มยอดขายบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer packaging products) ได้อีกทาง ส่วนการลงทุนใน Bicappa ในสัดส่วน 85% ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิต Pipette tips รายใหญ่ในทวีปยุโรป จะช่วยขยายโอกาสการเติบโตในตลาดอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ปิเปตต์ทิปส์ (Pipette tips) และเข้าถึงองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต ช่วยต่อยอดการทำธุรกิจในระยะยาว สอดคล้องกับแผนขยายธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะยาว

แผนงานและการให้ข้อมูลของผู้บริหารข้างต้น ถูกตีความจากนักวิเคราะห์แตกต่างกันไป โดยค่ายที่มีมุมมองแบบระมัดระวังเต็มที่ อย่างกสิกรไทย (KS) และดาโอ (DAOL) เชื่อว่า อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และเยื่อกระดาษ ยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่มีอุปทานล้นตลาด เพราะมีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มขึ้นในจีน และมาเลเซีย ขณะที่อุปสงค์ไม่ได้สูงมากนัก คอยกดดันผลดำเนินงานระยะสั้น แม้จะได้มีรายได้จากการลงทุนใหม่ใน Law Print และ Bicappa เข้ามาหนุน แต่น่าจะมีผลจำกัด ทำให้ประเมินราคาเป้าหมายปีหน้าเพียง 35 บาท และ 38 บาท ตามลำดับ

ส่วนภาพระยะกลาง SCGC ยังถูกกดดันจากผลดำเนินงานของ Fajar ที่เริ่มมีผลขาดทุนสุทธิตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน ต่อเนื่องถึงไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งหากผลดำเนินงานของ Fajar ฟื้นตัวดีขึ้น จะส่งผลบวกอย่างมากต่อ SCGP เพราะก่อนหน้าจะขาดทุน Fajar ทำกำไรได้ไตรมาสละ 100-200 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีภาระในการซื้อหุ้นที่เหลือใน Fajar ตามเงื่อนไขการลงทุน ซึ่งจะส่งผลให้ดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้นหากไม่อาจหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนได้




ในทางกลับกัน มีบางค่ายที่ประเมินว่า อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และเยื่อกระดาษน่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นปีหน้า ประกอบกับยังเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตในระยะยาวของ SGCP จึงมีมุมมองค่อนข้างบวก อย่างเมย์แบงก์ (MST) และบียอนด์ (BYD) เชื่อว่า น่าจะเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ก่อนเห็นภาพการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งใน 2 ปีหน้า จากความสำเร็จของแผนขยายกำลังการผลิต 4 โครงการ ที่จะเริ่มตั้งแต่ปีนี้เรื่อยไปจนถึงปี 2568 หนุนด้วยการรับรู้รายได้จากแผนขยายธุรกิจในยุโรป ทั้ง Go Pack, Delta Lab, Peute, Lab Print และ Bicappa และการสร้าง synergy ภายในห่วงโซคุณค่า และการต่อยอดโซลูชันบรรจุภัณฑ์ครบวงจร ดังนั้น จึงทำให้ประเมินราคาเหมาะสมปีหน้าสูงที่ 45-46 บาท ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 17 สำนักในตลาด ให้ไว้ที่ 41 บาท ส่งผลให้การที่ราคาหุ้น SCGP จากต้นปีปรับลดลงกว่า 35% มาซื้อขายที่ P/BV ระดับ 2 เท่า จึงทำให้มีความน่าสนใจในการลงทุนมากขึ้น  

สำหรับกลยุทธ์ลงทุน ดูเหมือนเอเซีย พลัส (ASPS) จะให้มุมมองที่น่าสนใจที่สุด โดยแนะนำให้รอจังหวะซื้อ เพราะกว่าจะเห็นการฟื้นตัวของผลดำเนินงาน SCGP อย่างชัดเจนคงต้องใช้เวลาอีก 1-2 ไตรมาส ทำให้ราคาหุ้นไม่น่าจะ Outperform ตลาดได้ในช่วงสั้น 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้