KBANK น่าสนใจน้อยสุดในกลุ่มธนาคารใหญ่ ตลาดกังวลคุณภาพสินทรัพย์ แต่ราคาหุ้นตอบรับปัจจัยลบไปแล้ว

3353 จำนวนผู้เข้าชม  | 

KBANK น่าสนใจน้อยสุดในกลุ่มธนาคารใหญ่ ตลาดกังวลคุณภาพสินทรัพย์ แต่ราคาหุ้นตอบรับปัจจัยลบไปแล้ว


หลังจาก บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) รายงานผลดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 10,741 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 4.19% แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสสุดท้ายปีก่อน 34% สาเหตุจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยดีกว่าคาด โดยเพิ่มขึ้น 32% หลัก ๆ จากกำไรจากการลงทุน อย่างไรก็ตาม รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพียง 9.84% ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ลดลงจากไตรมาสสุดท้ายที่ทำได้ 3.63% มาอยู่ที่ 3.46% สาเหตุจากต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 0.30% ฉุดให้ Cost to Income Ratio ลดลงเล็กน้อยจาก 42.6% ในสิ้นปีก่อน เป็น 42.5% อีกทั้งสินเชื่อรวมยังลดลงจากสิ้นปีก่อน 1.6% แม้ทิศทางดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นก็ตาม

สำหรับสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ลดจาก 3.19% ในไตรมาสสุดท้ายปีก่อน มาอยู่ที่ 3.04% จากการตัดหนี้สูญ 1,053 ล้านบาท และขาย NPL ราว 3.6 หมื่นล้านบาท แต่ธนาคารได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) รวม 12,692 ล้านบาท หลังพบว่าลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งเริ่มมีสัญญาณคุณภาพหนี้เสื่อมถอย ส่งผลให้เงินสำรองต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage ratio) เพิ่มเป็น 156.68% สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนที่  154.26% ขณะที่อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 18.90% เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ให้สอดรับกับการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

โอกาสนี้ นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KBANK ออกมายืนยันว่า ธนาคารยังคงเป้าหมายการเงินปีนี้ตามเดิมทุกตัว โดยมีเป้าสินเชื่อเติบโตที่ 5-7% ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ขอบบนของช่วงเป้าหมายที่ 3.30-3.45% เพราะคาดว่า NIM จะเริ่มเร่งตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป หนุนจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนพฤษภาคม และกลยุทธ์การปล่อยกู้ที่มูลค่าต่อรายไม่สูง (small ticket-size) อย่างไรก็ตาม credit cost ปีนี้อาจสูงกว่าเป้าที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ที่ 1.75-2.00% แต่ไม่เกิน 2.10% เพราะอาจมีผลขาดทุนจากการปล่อยกู้ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่รายหนึ่ง และการใส่ management overlay ส่วน NPL น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ไม่เกิน 3.25% จาก 3.04% ในไตรมาสแรก เพราะมีการใช้กลยุทธ์เชิงรุกในการล้างงบดุล และความร่วมมือกับพันธมิตร AMC

 


สำหรับมุมมองนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ แทบทุกสำนัก ออกมายืนยันตรงกันว่า แม้ผลดำเนินงานไตรมาสแรกจะเป็นไปตามคาด แต่แรงกดดันจากคุณภาพสินทรัพย์ และ NIM ที่ต่ำกว่าคาด ทำให้ปรับลดประมาณการกำไร และราคาเป้าหมายปีนี้ลงมาจากประมาณการเดิม  

โดยเอเซีย พลัส (ASPS) กังวลว่า แรงกดดันจากคุณภาพสินทรัพย์ จะทำให้ KBANK ต้องกันสำรองเพิ่ม ฉุดให้ Credit Cost อาจเพิ่มสูงกว่าคาด จึงปรับลด ROE ระยะยาวจาก 8.8% มาที่ 8.0% เพื่อให้สะท้อนภาพคุณภาพสินทรัพย์ที่ฟื้นช้ากว่าคาด รวมถึงการแก้ปัญหา NPL รายใหญ่ที่ต้องใช้ระยะเวลา ส่งผลให้ปรับลดกำไรสุทธิปีนี้ลง 4% มาที่ 3.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตจากปีก่อน 7.6% แต่คงประมาณการกำไร 2 ปีข้างหน้า (2567– 68) ตามเดิมที่ 4.2 หมื่นล้านบาท และ 4.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 10% และ 7% ตามลำดับ และปรับลดราคาเหมาะสมลงมาเหลือ 140 บาท จากที่ให้ไว้เดิม 159 บาท เพราะลด P/BV ที่ใช้ประเมินจากเดิม 0.73 เท่า ลงมาเหลือ 0.64 เท่า กลายเป็นหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ที่น่าสนใจน้อยที่สุด โดยมี KTB เป็น Top Pick ตามมาด้วย BBL และ SCB ตามลำดับ

เช่นเดียวกับอินโนเวสท์ เอ็กซ์ (InnovestX) ที่ระบุว่า การที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) หดตัวลงมากกว่าคาด และคุณภาพสินทรัพย์ที่อาจทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองเพิ่ม ทำให้ credit cost มีแนวโน้มจะสูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารตั้งไว้ที่ 1.75-2.00% แต่ไม่เกิน 2.1% ส่งผลให้ต้องปรับประมาณการกำไรปีนี้ลงจากเดิม 6% และปรับราคาเป้าหมายลงจาก 163 บาท เหลือ 146 บาท อิง P/BV ใหม่ที่ 0.65 เท่า กระนั้น ค่ายสีม่วงรายนี้ ยังเชื่อมั่นว่า กำไรปีนี้ของ KBANK จะเติบโตจากปีก่อน 8% หนุนจากสินเชื่อที่ขยายตัว 5% และ NIM ที่ขยายตัว 0.16% ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และอัตรา credit cost ทรงตัวจากปีก่อน

ส่วนกรุงศรี (KSS) ปรับลดประมาณการกำไร 3 ปีนี้ (2566-68) ลง 14-20% เนื่องจากปรับเพิ่มสมมติฐาน ECL ขึ้น และปรับลดสมมติฐาน NIM ลง เพราะมองว่าคุณภาพสินทรัพย์ยังเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง ทำให้ KBANK น่าจะมี credit cost ยืนระดับสูงต่อไป โดยประเมินว่ากำไรไตรมาส 2 และ 3 ของธนาคารจะอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ก่อนลดลงไปอยู่ที่ 8-9 พันล้านบาทในไตรมาสสุดท้ายของปี เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจะสูง ตามปัจจัยฤดูกาล

ถึงแม้ KBANK อาจดูด้อยในเชิงของการเติบโตและคุณภาพของพอร์ต แต่ที่ระดับราคาหุ้นปัจจุบัน กลับมีความน่าสนใจในเชิง risk to reward เพราะมี upside อีกมากหลังจากสะท้อนความเสี่ยงด้าน downside ทั้งหมดไปแล้ว จึงแนะนำซื้อ ที่ราคาเป้าหมายใหม่ 160 บาท อิงจาก P/BV ที่ 0.64 เท่า

ด้านไพ (Pi) ตั้งสมมติฐานค่าใช้จ่ายสํารองหนี้สูญปีนี้ไว้ที่ 2.1% ก่อนลดเป็น 1.9% ในปีหน้า เพราะคาดว่าการระบายงบดุลจะแล้วเสร็จในปีนี้ ขณะที่คาดว่าการเติบโตของกําไรสุทธิของ KBANK จะกลับมาเติบโต 15% ในปีนี้ และ 4% ในปีหน้า หนุนให้อัตราส่วนผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) เริ่มขยายตัวจาก 7.3% ในปีก่อน เป็น 7.9% ในปีนี้ คิดเป็นมูลค่าเหมาะสมที่ 160 บาท อิง P/BV ที่ 0.6 เท่า หรือเทียบเท่า -1.25 SD ต่อค่าเฉลี่ย 10 ปี ซี่งเป็นระดับที่น่าดึงดูด และสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินเชื่อไปแล้ว

 



ขณะที่ยูโอบี เคย์เฮียน (UOBKH) ชี้ว่า การที่ราคาหุ้น KBANK ปรับฐานกว่า 6% ตลอด 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถือได้ว่า สะท้อนถึงการผิดนัดชาระหนี้ของลูกค้ารายใหญแล้ว จึงเชื่อว่าราคาหุ้นตอบรับปัจจัยลบไปหมดแล้ว ซึ่งเมื่อได้พิจารณาแนวโน้ม Credit Cost ที่อ่อนแอไว้ในสมมติฐานแล้ว ยังแนะนำ ซื้อ ที่ราคาเป้าหมาย 158.00 บาท อิง Gordon Growth Model เทียบเท่า P/BV ที่ 0.70 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีเล็กน้อย

สำหรับฟิลลิป (PLS) เชื่อว่า ผลตอบแทนจากสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นมากกว่าผลกระทบจากการตั้งสำรองที่สูงกว่าที่ผู้บริหารเคยให้แนวทางไว้ ทำให้ปรับประมาณการกำไรทั้งปี และปรับราคาพื้นฐานขึ้นเป็น 165 บาท

นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA Concencus) ทำการสำรวจ จะพบว่า นักวิเคราะห์หลักทรัพย์จาก 16 ค่าย ให้มูลค่า KBANK ไว้ที่ 161 บาท



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้