3472 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจาก บมจ. ธนาคารกรุงเทพ (BBL) รายงานผลดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 10,129 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 42% และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสสุดท้ายปีก่อน 34% สาเหตุจากรายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตอย่างโดดเด่น หลักๆ มาจากธุรกิจประกันและกองทุนรวม ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เพิ่มสูงขึ้นมาเป็น 2.83% ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิประคองตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน ทั้งที่สินเชื่อรวมลดลงจากสิ้นปีก่อนเล็กน้อย 1.6% อีกทั้งธนาคารสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ Cost to Income Ratio ลดลงจาก 51.7% ในสิ้นปีก่อน เป็น 46.8%
สำหรับสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จาก 3.6% ในไตรมาสสุดท้ายปีก่อน มาที่ 3.7% แต่ธนาคารได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) จำนวน 8,474 ล้านบาท ส่งผลให้เงินสำรองต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 265.1% พร้อมกับควบคุมอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้อยู่ที่ระดับ 19.2% สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ให้สอดรับกับการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ล่าสุด นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทุกสำนัก ออกมายืนยันตรงกันว่า ผลดำเนินงานของ BBL ดีเกินคาด ทำให้เชื่อมั่นว่า จะเห็นการเติบโตของรายได้และกำไรทั้งปีอย่างแข็งแกร่ง ประกอบกับราคาหุ้นยังซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสม จึงยกให้เป็นหุ้น Top Pick ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่นักลงทุนอาจซื้อเก็บไว้ในพอร์ต จากการที่เป็นหุ้นอีกหนึ่งตัวที่น่าจะได้ประโยชน์จาก Fundflow ไหลเข้า
หยวนต้า (YUANTA) ชี้ประเด็นว่า แนวโน้มกำไรสุทธิในไตรมาส 2 จะเร่งตัวขึ้น ทั้งจากไตรมาสก่อนหน้า และช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุจากการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อฝั่งธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะทยอยปรับตัวขึ้น สอดรับกับทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ดี และจะยิ่งเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปี หลังมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่ NIM มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นจากไตรมาสแรก หนุนจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ที่เร็วกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก และการรับรู้พอร์ตสินเชื่อของ Permata ที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าในไทยเพิ่มเข้ามา
นอกจากนี้ ยังคาดว่า BBL จะมีการตั้งสำรองลดลงเป็นลำดับ หลังความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้มีแนวโน้มแข็งแรงขึ้น และบริษัทมี Coverage Ratio สูงมาก ส่งผลให้กำไรสุทธิปีนี้ น่าจะเติบโต 21% มาอยู่ที่ 35,657 ล้านบาท คิดเป็นราคาเหมาะสมที่ 190 บาท หรือมี upside ราว 20%
ส่วนดาโอ (DAOL) ปรับกำไรสุทธิปีนี้และปีหน้าขึ้น 9% จากการปรับการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเป็น 2% จากเดิมที่คาดจะทรงตัว และปรับ NIM ปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.64% จากเดิมที่ 2.47% และปีหน้าอยู่ที่ 2.62% จากเดิมที่ 2.46% ยิ่งธนาคารมีการตั้งสำรองเผื่อเยอะมากตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เชื่อมั่นว่าจะเห็นการตั้งสำรองเริ่มลดลงตั้งแต่ปีนี้ ส่งผลให้ประเมินกำไรสุทธิปีนี้ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท เติบโต 32% โดดเด่นที่สุดในกลุ่มธนาคาร จึงปรับราคาเป้าหมายเพิ่มจากเดิมที่ 187 บาท ขึ้นมาเป็น 195 บาท อิง P/BV ที่ 0.70 เท่า หรือเทียบเท่า -0.75 SD below 10-yr average P/BV) ยิ่งราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายที่ P/BV เพียง 0.58 เท่า หรือเทียบเท่า -1.25SD ย้อนหลัง 10 ปี จึงแนะนำซื้อ
ขณะที่ไพ (Pi) ปรับเพิ่มมูลค่าพื้นฐานขึ้นเป็น 190 บาท จาก 184 บาท เพื่อให้สะท้อนการปรับเพิ่มประมาณการกําไรปีนี้ขึ้น 4% และภาพรวม ROE ที่สูงขึ้น อิง P/BV ปีนี้ที่ 0.67 เท่า หรือเทียบเท่า -0.5SD ต่อค่าเฉลี่ย 10 ปี พร้อมแนะนำซื้อ จาก 4 เหตุผล ประการแรก งบดุลที่ยืดหยุ่นด้วยอัตราส่วนการตั้งสํารองที่สูง และฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคต ประการที่สอง แนวโน้มการเติบโตของกําไรสุทธิมั่นคง ประการที่สาม การขยายตัวของ NIM จากดอกเบี้ยขาขึ้น และประการสุดท้าย มูลค่าหุ้นที่ไม่แพง
สำหรับราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่สำรวจโดยสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA Concencus) ให้ไว้ที่ 184.66 บาท