3185 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจาก บมจ. ธนาคารทหารไทย ธนชาต หรือทีเอ็มบี ธนชาต (TTB) รายงานผลดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้ สรุปได้ว่า มีกำไรสุทธิ 4,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 12% และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปีก่อน 34% สาเหตุจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ฟื้นตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากการทยอยขยายฐานเงินฝากล่วงหน้าก่อนเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น หนุนให้ธนาคารสามารถขยายสินเชื่อใหม่ โดยเฉพาะสินเชื่อรถแลกเงิน และบ้านแลกเงิน โดยไม่ต้องเร่งขยายฐานเงินฝาก สะท้อนได้จากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากสิ้นไตรมาสแรกซึ่งอยู่ที่ 97% ถึงแม้ยอดสินเชื่อสุทธิจะลดลงราว 1% ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานรวมเพิ่มขึ้น 6.9% จากไตรมาสแรกปีก่อน มาอยู่ที่ 16,870 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ธนาคารสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายได้ได้เป็นอย่างดี หนุนให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ เพิ่มขึ้น 8.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มาอยู่ที่ 9,561 ล้านบาท
สำหรับค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ปรับลดลง 11.1% มาอยู่ที่ 4,276 ล้านบาท ตามสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่ลดลงจาก 2.73% ในไตรมาสสุดท้ายปีก่อน เหลือ 2.69% เพราะธนาคารมีการ write-off NPL ออกไปอีก 2.9 พันล้านบาท และขาย NPL อีก 1.4 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้ตั้งสํารองเข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมความไม่แน่นอนที่อาจเกิดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ส่งผลให้อัตราส่วนการกันสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Loan-Loss Coverage หรือ LLC) เพิ่มจาก 138% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็น 140% และพร้อมให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม ควบคู่ไปกับการควบคุมค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
ในเบื้องต้น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์แทบทุกสำนักออกมาให้ความเห็นว่า TTB รายงานกำไรไตรมาสแรกดีกว่าที่ตลาดคาด โดยทรงตัวทั้งเปรียบเทียบรายไตรมาส (QoQ) และรายปี (YoY) จากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ต่ำกว่าคาด ทำให้มีการปรับประมาณการกำไร และมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้น
ทรีนีตี้ (TNITY) เชื่อว่า รายได้ดอกเบี้ยปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น ทั้งจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ได้ผลบวกจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และกลยุทธการปล่อยสินเชื่อกลุ่ม High Yield มากขึ้น อีกทั้งแนวโน้มคุณภาพหนี้ที่ดีกว่าที่คาดเดิม ทำให้ปรับลดประมาณการสำรองหนี้ลงเล็กน้อย ส่งผลให้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปีนี้ขึ้นจากเดิม 4% มาอยู่ที่ 16,151 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตจากปีก่อน 14% พร้อมปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 1.55 บาท อิง P/BV ที่ 0.67 เท่า
กรุงศรี (KSS) คาดว่า แนวโน้มผลดำเนินงานไตรมาส 2 ของ TTB จะดีขึ้นต่อเนื่อง อานิสงส์จากการที่พอร์ตสินเชื่อกลับมาเร่งขยายตัวมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการมี NIM สูงขึ้น ผลักดันให้กำไรปีนี้เติบโต 14.5% เป็น 16,261 ล้านบาท ก่อนเติบโตในปีหน้า 4.5% มาอยู่ที่ 16,997 ล้านบาท คิดเป็นราคาเหมาะสมที่ 1.65 บาท อิง P/BV ที่ 0.70 เท่า
ยูโอบี เคย์เฮียน (UOBKH) ปรับเพิ่มประมาณการกําไร 3 ปีนี้ของ TTB ขึ้น 1.9-6.2% สาเหตุหลักมาจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น และการปรับลดสมมติฐาน Credit cost ลงมา ยิ่งธนาคารมีการเตรียมดึงเงินทุนจากเงินฝากประจําตั้งแต่ไตรมาสแรกที่ผ่านมา แม้จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย และการหวนกลับส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในอัตราปกติที่ 0.46% แต่ NIM ของธนาคารกลับลดลงเพียง 9 bps จากไตรมาสก่อน และดีขึ้นจากไตรมาสแรกปีก่อน 17 bps พร้อมกับปรับเพิ่มราคาเหมาะสมเป็น 1.63 บาท อิง P/BV ที่ 0.70 เท่า เทียบเท่า +1SD ของค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง และใกล้เคียงค่าเฉลี่ยที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินมูลค่าเหมาะสมของ TTB ไว้ที่ 1.62 บาท
อย่างไรก็ตาม การที่ราคาหุ้นปัจจุบัน มี Upside จำกัดไม่ถึง 10% จากมูลค่าพื้นฐานเฉลี่ย กลยุทธ์การลงทุนอาจต้องให้น้ำหนักกับการ "เก็งกำไร"