3071 จำนวนผู้เข้าชม |
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ. หลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บมจ. จีเอเบิล (G-ABLE) เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 175 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วหลัง IPO ทำให้บริษัทฯ พร้อมประเดิมเดินสายโรดโชว์ให้ข้อมูลต่อนักลงทุนสถาบัน ก่อนพบนักลงทุนทั่วไปเร็วๆ นี้ เพื่อเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หมวดธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ภายในไตรมาส 2 นี้
สำหรับวัตถุประสงค์การระดมทุนครั้งนี้ G-ABLE มีแผนนำเงินทุนมาใช้ลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพ เพื่อขยายฐานรายได้ และกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด รวมไปถึงมุ่งเน้นพัฒนาซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยีที่บริษัทเป็นเจ้าของ เพิ่มโอกาสการเติบโตและขยายธุรกิจให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านเทคโนโลยีและโซลูชั่นดิจิทัลของลูกค้าได้อย่างครบมิติยิ่งขึ้น รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ส่วนที่เหลือจะนำไปชำระคืนหนี้สถาบันการเงิน ตลอดจนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ
สำหรับจุดแข็งของบริษัทฯ อยู่ที่การได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังด้านเทคโนโลยีให้แก่ลูกค้ามากกว่า 1,000 ราย ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจการเงิน โทรคมนาคม ประกันภัย อุตสาหกรรมการผลิต พลังงาน หรือสถาบันการศึกษาต่างๆ จากการทำงานร่วมกับพันธมิตรผู้พัฒนาเทคโนโลยีระดับโลกมากกว่า 100 บริษัท และที่สำคัญ และผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีในอุตสาหกรรมที่หลากหลายกว่า 1,000 คนมาก คอยให้บริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีขององค์กรและขับเคลื่อนธุรกิจของลูกค้าให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลในทุกมิติ โดยมีส่วนในความสำเร็จในการพัฒนาโปรเจกต์ต่างๆ มากกว่า 30,000 โปรเจกต์ ถือเป็นศูนย์รวมขุมพลังด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจ ไปพร้อมกระแสความต้องการ Digital Transformation และเป็นผู้นำด้าน Tech Enabler ที่ใหญ่ที่สุดของไทย
นอกจากนี้ ธุรกิจของบริษัทฯ ยังเป็นอีกหนึ่งธุรกิจในเมกะเทรนด์ ที่มีการเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง ดูได้จากรายงานของ Gartner ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลก ที่คาดการณ์ว่ามูลค่าใช้จ่ายด้านไอทีในไทยปีนี้ โดยเฉพาะในส่วนของซอฟต์แวร์ระดับองค์กรจะเป็นส่วนที่เติบโตสูงที่สุด ในอัตรา 14.87%
ขณะที่ ดร. ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร G-ABLE อธิบายเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ทำธุรกิจ 3 ประเภท ประเภทแรก ธุรกิจให้บริการโซลูชั่นระดับองค์กร (Enterprise Solution and Services) เพื่อช่วยตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการทำ Digital Transformation อย่างครบวงจร ไล่ตั้งแต่การเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ด้วยโซลูชั่นด้านระบบคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์ (Cloud and Data Center Modernization Solution) การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ด้วยโซลูชั่นด้านระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security Solution) ไปจนถึงการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยโซลูชั่นจัดการข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล (Data and Analytics Solution) และเติมเต็มด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจยุคปัจจุบันที่ลูกค้าต้องการมีแอปพลิเคชั่นเป็นของตนเอง ด้วยโซลูชั่นด้านธุรกิจดิจิทัล (Digital Business and Application Solution) รวมถึงการมีโซลูชั่นในการบริหารจัดการระบบสารสนเทศ (Managed Tech Services) เพื่อให้บริการสนับสนุนงานระบบเทคโลยีสารสนเทศ ด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญอย่างครบวงจร ซึ่งธุรกิจดังกล่าวเป็นช่องทางสร้างรายได้หลักของบริษัทฯ โดยมีสัดส่วนรายได้สูงถึง 76% ของรายได้จากการขายและบริการรวม
ส่วนธุรกิจประเภทที่สอง เป็นธุรกิจโซลูชั่นที่เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชั้นนำต่างๆ จาก Oracle และ Veritas ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการใช้งานในองค์กร เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากผู้ใช้งานทั่วโลกมาแล้วอย่างยาวนาน โดยดำเนินการผ่านบริษัท เฟิร์ส ลอจิก (First Logic)
และธุรกิจประเภทสุดท้าย เป็นธุรกิจบริการซอฟต์แวร์แพลตฟอร์ม (Software Platform) ที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีที่เกิดภายในองค์กรมาสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-added Distribution) และพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ ให้บริการแก่ลูกค้าจำนวน 3 แพลตฟอร์ม ทั้งแพลตฟอร์มด้านการตลาดดิจิทัลแบบครบวงจร แพลตฟอร์มสำหรับจัดการข้อมูล Big Data และแพลตฟอร์มสำหรับบริหารจัดการพื้นที่เช่า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่บริษัทฯ มีเหนือคู่แข่ง
สำหรับผลดำเนินงาน 3 ปีล่าสุด (ปี 2563-65) บริษัทฯ มีการเติบโตของกำไรอย่างต่อเนื่อง จาก 166 ล้านบาท ในปี 2563 เพิ่มเป็น 245 ล้านบาท และ 268 ล้านบาท ในปี 2564 และ 2565 ทั้งที่รายได้จากการขายและบริการจะปรับลดลง จาก 5,177 ล้านบาท ในปี 2563 มาอยู่ที่ 4,939 ล้านบาท และ 4,731 ล้านบาท ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามแผนธุรกิจของบริษัทฯ ที่ต้องการสร้าง Growth Engine จากธุรกิจบริการซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของเอง ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่า 50% ช่วยผลักดันให้กำไรเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ปีละ 30.7%
ทั้งนี้ บริษัทฯ เชื่อว่า การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี เพราะทุกธุรกิจจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และตอบไลฟ์สไตล์ของลูกค้าให้ได้เหนือคู่แข่ง ทำให้บริษัทฯ ซึ่งเป็น Tech Enabler ที่คร่ำหวอดและเชี่ยวชาญด้าน Digital Transformation ยาวนานกว่า 33 ปี สามารถนำศักยภาพทางเทคโนโลยีในทุกด้านมาสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทไทย ให้สามารถเติบโตในโลกดิจิทัลได้อย่างแข็งแกร่ง ปลอดภัย และยั่งยืนโดยการสนับสนุนของคนไทยด้วยกันเอง