2989 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจาก บมจ. เอสวีไอ (SVI) ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการประกอบผลิตภัณฑ์ประเภทวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิคส์สำเร็จรูปแบบครบวงจร ตามความต้องการของลูกค้าที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (OEM) รายงานผลดำเนินงานงวดไตรมาสสุดท้ายปีที่ผ่านมาว่า บริษัทฯ มีรายได้รวม 7,209 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 490 ล้านบาท แต่หากไม่คิดรวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 85 ล้านบาท กำไรปกติจะอยู่ที่ 575 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.5% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และ 4.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) สาเหตุจากรายได้รวมปรับเพิ่มขึ้น 2.8% QoQ และ 26.6% YoY เป็น 7.2 พันล้านบาท ทําสถิติสูงสุด (New high) รายไตรมาส หนุนโดยคําสั่งซื้อจากลูกค้ากลุ่มโทรคมนาคม ระบบอุตสาหกรรม อุปกรณ์โสตวิดีทัศน์ และยานยนต์เติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาชิพขาดแคลนเริ่มคลายตัวดีขึ้น ทําให้สามารถส่งมอบสินค้าได้มากขึ้น อีกทั้งความสำเร็จจาก Product mix ที่ดีขึ้น และการประหยัดต่อขนาด ช่วยเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น (Gross margin) ขึ้นมาเป็น 11.0% จาก 9.9% ในไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่ผลดำเนินงานรอบบัญชีปีที่ผ่านมา สามารถทำรายได้รวมทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ (All Time High) ที่ 25,898 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,772 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48.8% และ 24.3% ตามลำดับ
โอกาสนี้ บริษัทฯ พร้อมจ่ายปันผลสำหรับรอบบัญชีทั้งปี ในอัตราหุ้นละ 0.26 บาท กำหนดวันขึ้นเครื่องหมายไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 2 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ก่อนจ่ายเงินในวันที่ 16 พฤษภาคมตามมา
พร้อมกันนี้ นายสมชาย สิริปัญญานนท์ กรรมการผู้จัดการ SVI ชี้แจงแผนงานปีนี้ด้วยว่า ตั้งเป้าหมายรายได้ 30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาราว 15% สาเหตุจากลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์จะยังมีความต้องการสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์เกี่ยวกับระบบควบคุมอุตสาหกรรม อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม และเครือข่ายไร้สาย หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ยานยนต์ ตามกระแสเมกะเทรนด์ของโลก ประกอบกับแผนลงทุนขยายฐานการผลิต ทั้งที่สโลวาเกีย จาก 6,000 ตารางเมตร เป็น 11,000 ตารางเมตร (2 เท่าตัว) แล้วเสร็จในปีที่ผ่านมา ส่วนที่กัมพูชา เพิ่มจาก 10,000 ตารางเมตร เป็น 35,000 ตารางเมตร (3 เท่าตัว) น่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2 นี้ ช่วยให้บริษัทฯ สามารถผลิตสินค้ารองรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าเก่าที่เติบโตเพิ่มขึ้น และสามารถรองรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าใหม่ที่มีการย้ายฐานการผลิตจากจีน เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้ควบคู่กันไป
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ เล็งเห็นศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย จึงได้คิดค้นและพัฒนาแท่นชาร์จรถ EV ที่เป็นแบรนด์ของตัวเอง โดยจะเริ่มส่งมอบสินค้าให้แก่คู่ค้า ที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยในไตรมาส 2 นี้ คาดว่า จะสร้างรายได้เพิ่มปีละ 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะหนุนให้บริษัทฯ มีความสามารถในการทำกำไรที่สูงขึ้น
สำหรับความเห็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เสียงส่วนใหญ่จะมองเห็นการเติบโตของรายได้และกำไรในปีนี้ต่อเนื่องจากปีที่่ผานมา แต่การเติบโตจะไม่โดดเด่นเท่า เพราะไม่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสูงเหมือนปีที่ผ่านมา
ในเบื้องต้น เอเซีย พลัส (ASPS) คงประมาณการกําไรสุทธิปีนี้ที่ 1.6 พันล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา 12.3% เพราะคาด SVI จะไม่มีการบันทึกกําไรพิเศษมากถึง 200 ล้านบาท อย่างในปีที่ผ่านมา ขณะที่คาดกําไรปกติจะอ่อนตัวเล็กน้อย 1.2% จากแนวโน้ม gross margin ที่คาดลดลงมาอยู่ที่ 8.8% จากผลกระทบค่าเงินบาท โดย SVI ซื้อวัตถุดิบในราคาสูง (ค่าเงินบาทเฉลี่ยงวดไตรมาสสุดท้ายปีก่อน อยู่ที่ 36.3 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่มาขายสินค้าในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น (ค่าเงินบาทเฉลี่ยต้นปีนี้ อยู่ที่ 33.3 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) กดดันให้ประสิทธิภาพการทํากําไรลดลงตลอดงวดครึ่งแรกปีนี้ และมีน้ำหนักมากกว่าแนวโน้มรายได้รวมที่คาดจะเติบโตต่อเนื่องอีก 9.4% YoY คิดเป็นมูลค่าพื้นฐานที่ 10.50 บาท
ส่วนบัวหลวง (BLS) คาดปัญหาการขาดแคลนส่วนประกอบจะยืดเยื้อต่อในปีนี้ แต่จะไม่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา โดยอุปสงค์ในกลุ่มยานยนต์ กลุ่มไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ป้ายราคาดิจิทัล) และสินค้าที่เกี่ยวกับกล้องวงจรปิด ยังคงแข็งแกร่ง แต่อุปสงค์ต่อสินค้าอุปโภคบริโภค และอุปกรณ์ 5G จะอ่อนแอลง แต่การที่กำไรงดวไตรมาสสุดท้ายปีที่ผ่านมาดีกว่าที่คาด ทำให้ปรับกำไรหลักทั้งปีเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 พันล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา 12% คิดเป็นราคาเป้าหมายที่ 10 บาท
สำหรับภาพระยะสั้น งวดไตรมาสแรกปีนี้ คาดยอดขาย และกำไรของบริษัทฯ จะปรับตัวดีขึ้น YoY แต่ทรงตัว QoQ ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นกลับสู่ภาวะปกติ ราว 8.5-9.0% ดีขึ้นจาก 7.1% ในไตรมาสแรกปีก่อน แต่กำไรไตรมาส 2 น่าจะอ่อนแอลง จึงแนะนำ "เก็งกำไร"
ด้านดีบีเอส (DBSTH) คาดว่า กำไรปีนี้จะปรับลง 8% ก่อนขยายตัว 19% ในปีหน้า จากผลกระทบของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยตั้งสมมุติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 33.50 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ และคงแนะนำ "ซื้อ" โดยคงราคาเป้าหมายไว้ที่ 11 บาท ตามเดิม ประเมินด้วย P/E ปีนี้ ที่ 14.5 เท่า เทียบเท่า +0.5 SD จากค่าเฉลี่ย P/E ในอดีต
ขณะที่เคจีไอ (KGI) มองต่างมุมออกไป โดยชี้ว่า แม้ SVI จะมีกําไรปกติในปีที่ผ่านมาดีกว่าตลาดคาด แต่ยังคงประมาณการกําไรปกติ 2 ปีนี้ เอาไว้เท่าเดิม เพราะคาดยอดขายปีนี้จะทรงตัว ก่อนเติบโต 4% ในปีหน้า จากผลกระทบของความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการแข็งค่าของเงินบาท ขณะที่ประเมินอัตรากําไรขั้นต้นเฉลี่ย 2 ปีนี้ จะลดลงมาอยู่ที่ 8.8% กดให้กำไรมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา จึงยังคงราคาเป้าหมายปีนี้ที่ 8.50 บาท อิง PER ที่ 13 เท่า