2608 จำนวนผู้เข้าชม |
นางสาวพัชพร สรรคบุรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บมจ. หลักทรัพย์ เคจีไอ ประเทศไทย (KGI) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น บมจ. บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป (BVG) เปิดเผยว่า ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 157.50 ล้านหุ้น (แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ จำนวน 90 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยบริษัทแม่ บมจ. ไทยรับประกันภัยต่อ (THRE) จำนวน 67.50 ล้านหุ้น) คิดเป็นสัดส่วน 35% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ โดยมีมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 50 สตางค์ ในราคาหุ้นละ 3.85 บาท ระหว่างวันที่ 8 - 10 กุมภาพันธ์นี้ ผ่านบริษัทฯ และผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายอีก 3 ราย คือ บมจ. หลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) บมจ. หลักทรัพย์ กรุงศรี (KKS) และบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ (TNITY) คาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) วันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้
สำหรับการกำหนดราคา IPO ที่ 3.85 บาท ใช้วิธีประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ด้วยวิธีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (Price to Earnings Ratio หรือ P/E) คำนวณจากกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลดำเนินงานช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายนปีที่ผ่านมา คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิเท่ากับ 32.08 เท่า ถือเป็นราคาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน อีกทั้งยังเป็นราคาที่มีส่วนลดเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจที่คล้ายคลึงกัน ในช่วง 1 ปีล่าสุด อย่างธุรกิจให้บริการระบบแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน หรือเป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ให้แก่ลูกค้า อาทิ บมจ. ฮิวแมนิก้า (HUMAN) บมจ. ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป (IIG) และ บมจ. เน็ตเบย์ (NETBAY) พอสมควร ทำให้เชื่อมั่นว่า จะเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะกลางและระยะยาว
ด้านนางนวรัตน์ วงศ์ฐิติรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BVG ชี้แจงวัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้ว่า บริษัทฯ มีแผนนำเงินจากการระดมทุนไปพัฒนาระบบ AI และระบบสารสนเทศ เพื่อต่อยอดความเป็นผู้นำในการให้บริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากประกันภัยรถยนต์ (ระบบ EMCS) และการให้บริการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลและสินไหมทดแทน ผ่านแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน (บริการ TPA) ให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น รวมถึงขยายการให้บริการด้านที่ปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยของกลุ่มไปในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานต่อไป
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจประกันภัย เช่น ระบบ EMCS มีแผนพัฒนาบริการ AI Estimate หรือระบบการประเมินความเสียหายเบื้องต้นจากการเกิดอุบัติเหตุเพื่อประมาณการค่าสินไหม และ AI Inspection เพื่อช่วยบริษัทประกันภัยในการตรวจสภาพรถยนต์ในขั้นตอนการต่อกรมธรรม์ โครงการ Garage Lending หรือการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการอู่ซ่อมรถยนต์ โดยจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมต่อระหว่างอู่ซ่อมรถยนต์กับสถาบันการเงิน ซึ่งทำให้ BVG สามารถขยายขอบเขตการให้บริการไปสู่ภาคการเงินที่จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติม และตอกย้ำการเป็น Industries Game Changer ได้อย่างแท้จริง
ขณะที่บริการ TPA บริษัทฯ มีแผนจัดทำโครงการพัฒนาระบบ Optical Character Recognition ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานโดยไม่ใช้กระดาษ รองรับการปรับตัวของธุรกิจโรงพยาบาลไปสู่ Digital Transformation และสามารถต่อยอดสู่การให้บริการ AI Claim Assessment Automation เพื่อพิจารณาค่าสินไหมโรคพื้นฐานได้อย่างถูกต้อง รองรับจำนวนผู้เอาประกันภัยและจำนวนรายการสินไหมทดแทนที่เพิ่มขึ้น
สำหรับผลดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี บริษัทฯ มีการเติบโตของรายได้จากการให้บริการอย่างต่อเนื่อง จาก 384.06 ล้านบาท ในปี 2562 เป็น 388.39 ล้านบาท ในปี 2563 และ 400.24 ล้านบาท ในปี 2564 ตามลำดับ แต่เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเพิ่มบุคลากร และการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้กำไรสุทธิปรับลดลงเล็กน้อย จาก 71.07 ล้านบาท ในปี 2562 เป็น 62.23 ล้านบาท ในปี 2563 และ 50.16 ล้านบาท ในปี 2564 ตามลำดับ โดยยังคงสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นได้สูงเกิน 55% อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ผลดำเนินงานล่าสุด ช่วง 9 เดือนปีก่อน BVG มีรายได้จากการให้บริการ 323.50 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 45.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 8.00% และ 3.91% ตามลำดับ
.