3190 จำนวนผู้เข้าชม |
บมจ. ธนาคารทหารไทย ธนชาต (TTB) ประกาศผลดำเนินงานไตรมาสสุดท้ายปีก่อน มีกำไรสุทธิ 3,847 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) แต่เพิ่มขึ้น 37.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) สาเหตุจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 6.2% QoQ และ 9.7% YoY ตามการขยายตัวของสินเชื่อ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 18.7% QoQ และ 7.4% YoY หนุนด้วยกำไรพิเศษจากการซื้อคืนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (AT1) อีกราว 463 ล้านบาท
ส่วนผลดำเนินงานรวมทั้งปี ธนาคารมีกำไรสุทธิ 14,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.5% YoY หนุนโดยการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 2.2% ถึงแม้ NIM จะปรับลดลงเล็กน้อย 0.02% เป็น 2.95% และการตั้งสำรองที่ลดลง เสริมด้วยกำไรพิเศษจากการซื้อคืน AT1 รวม 528 ล้านบาท
โดยเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 1.376 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,814 ล้านบาท หรือ 0.4% จากสิ้นปีก่อนหน้า ผลจากการชะลอตัวของสินเชื่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ แต่สินเชื่อกลุ่มธุรกิจ SMEs และสินเชื่อกลุ่มลูกค้าบุคคล ยังขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากการดำเนินงานลดลง 2.1% YoY หลักๆ จากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการลดลง 7.6% YoY ขณะที่อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ 2.73% ลดลงจาก 2.81% ในสิ้นปีก่อน ตามความสามารถในการชำระเงินของลูกหนี้ในพอร์ตที่ดีขึ้น ส่วนการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 4.3% โดยมี Coverage ratio ลดลงจากสิ้นปีก่อนที่ 157% เป็น 133% ขณะที่อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 20% ใกล้เคียงปีก่อน
ล่าสุด ผู้บริหาร TTB ได้ประกาศเป้าการเติบโตของสินเชื่อปีนี้ ที่ 3% เน้นไปที่สินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อรถแลกเงิน และบ้านแลกเงิน ขณะที่สินเชื่อธุรกิจจะลดลง เนื่องจากต้องการเพิ่มผลตอบแทนของสินทรัพย์มากกว่าจะเพิ่มขนาดของสินทรัพย์ โดยตั้งเป้าหมาย NIM ไว้ที่ 3.0-3.1% ดีขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา ขณะที่การเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (non-NII) ตั้งเป้าหมายเติบโตเลขหลักเดียว มาจากค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นจากการประกันผ่านธนาคาร ส่วนค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อบางส่วนจะถูกหักล้างด้วยค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ลดลง เมื่อเริ่มเข้าสู่แพลตฟอรม์ดิจิทิลมากขึ้น
สำหรับอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ จะยังคงอยู่ในช่วง 44-46% ใกล้เคียงปีที่ผ่านมา จากการประหยัดต้นทุนของระบบหลังบ้านที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งจะถูกชดเชยด้วยการลงทุนที่สูงขึ้นในแพลตฟอร์มไอที และพนักงาน ขณะที่ NPL ratio ตั้งเป้าไว้ที่ 2.9% เทียบกับ 2.73% ในปีก่อน และมี Credit Cost ที่ 125-135% ใกล้เคียงปีก่อน
สำหรับเป้าหมายระยะกลางถึงยาว ธนาคารตั้งเป้าหมาย ROE ที่ 10% และมีแผนในการบริหารจัดการเงินทุน เช่น เพิ่มอัตราการจ่ายเงินปันผล หรือการซื้อหุ้นคืนเพื่อลดฐานทุน และเพิ่ม ROE ส่วนประเด็นระบบธนาคารเสมือน ธนาคารไม่เห็นประโยชน์ และไม่สนใจที่จะดำเนินการ
ถึงแม้ผลดำเนินงานของ TTB จะออกมาดีกว่าคาด แต่กับเป้าหมายการทำธุรกิจปีนี้ กลับทำให้นักวิเคราะห์หัุ้นกลุ่มธนาคารมองต่างมุมเรื่องราคาเป้าหมายปีนี้ แม้ส่วนใหญ่จะปรับเพิ่มประมาณการกำไรขึ้นก็ตาม
แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LHS) มีมุมมองเป็นบวกต่อการดำเนินกลยุทธ์ของ TTB ที่คาดว่าจะทำให้ธนาคารเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไปได้ โดยคาดกำไรปีนี้เติบโตสูงต่อเนื่อง 21% เป็น 17,195 ล้านบาท จากการสร้างรายได้ได้เพิ่มขึ้น และการประหยัดต้นทุน และค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายขึ้นมาที่ 1.65 บ. ภายใต้วิธี GGM และแนะนำ "ซื้้อลงทุน”
ส่วนกสิกรไทย (KS) แนะนำ “ซื้อ” และปรับราคาเป้าหมายจากเดิม 1.59 บาท เป็น 1.73 บาท จากการปรับเพิ่มประมาณการกำไรปีนี้และปีหน้า เป็น 16,587 ล้านบาท และ 19,126 ล้านบาท ตามลำดับ เพราะปรับสมมติฐาน NIM เพิ่ม 0.35% และ 0.45% ตามลำดับ หลังธนาคารมี NIM ที่สูงกว่าคาดในไตรมาสสุดท้ายปีก่อน และจะยังคงดำเนินต่อไปในปีนี้ พร้อมกับลดอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ลง 0.02-0.03% ตามแผนปรับปรุงประสิทธิภาพ ทำให้เชื่อมั่นว่า กำไรจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในอัตรา 17% 15% และ 10% นับจากปี 2566-2568 ยิ่งราคาหุ้นซื้อขายที่ P/BV ที่ต่ำเมื่อเทียบกับ ROE และคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี ทำให้ TTB ยังคงเป็นหุ้นเด่นในกลุ่มธนาคาร
ด้านเมย์แบงก์ (MST) ปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรปีนี้ และปีหน้าขึ้น 6% เพื่อให้สะท้อนสมมติฐาน NIM ที่สูงขึ้นเป็น 3.01-3.03% ที่สำคัญ การที่ธนาคารจะมุ่งเน้นคุณภาพสินเชื่อเพื่อจำกัดความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ และมีนโยบายการตั้งสำรองที่รอบคอบ รวมถึงการปรับลดคุณภาพ NPL เชิงรุก ทำให้ประเมินกำไรปีนี้และปีหน้าจะเติบโต 13% และ 9% เป็น 16,076 ล้านบาท และ 17,585 ล้านบาท ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม การที่ต้นทุนต่อรายได้ลดลงช้ากว่าที่คาดไว้ เนื่องจากการเติบโตของ (non-NII) ที่อ่อนแอ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (opex) ที่คาดจะเพิ่มสูงขึ้น จึงแนะนำแค่ "ถือ" แม้จะปรับเพิ่มราคาเป้าหมายขึ้นจาก 1.50 บาท เป็น 1.55 บาท อิง P/BV ปีนี้ ที่ 0.65 เท่า
ส่วนอินโนเวสท์ เอ็กซ์ (Innovest X) บอกว่า แม้จะคาดการณ์ว่าธนาคารจะมีกําไรเติบโต 9% ในปีนี้ ผลักดันจากสินเชื่อที่เติบโต 3% NIM ที่ขยายตัว 0.11% แต่การที่ non-NII มีแนวโน้มลดลง 2% credit cost เพิ่มขึ้น 0.03% และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ยังอยู่ในระดับทรงตัว จึงทำให้ TTB ดูน่าสนใจน้อยกว่าหุ้นธนาคารตัวอื่น และ valuation ไม่สมเหตุสมผล เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ ดังนั้น จึงยังคงเรทติ้ง NEUTRAL และราคาเป้าหมายที่ 1.50 บาท อิง P/BV ปีนี้ที่ 0.6 เท่า เทียบกับ ROE 7% ตามเดิม
เช่นเดียวกับดาโอ (DAOL) ที่ปรับคำแนะนำลงเป็น "ถือ" จากเดิมที่ให้ "ซื้อ" พร้อมคงราคาเป้าหมายที่ 1.55 บาท อิง P/BV ปีนี้ที่ 0.65 เท่า (เทียบเท่า -1.00SD below 10-yr average P/BV) เนื่องจากการตั้งสำรองยังคงอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับที่คาดหมาย เพราะ TTB มีการจัดชั้นเข้มงวดมากขึ้น ทำให้การเติบโตของกำไรอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานยังคงอยู่ในระดับสูง จากการลงทุนด้าน digital เพิ่มเติม ทำให้ยังคงประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ที่ 1.45 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% ตามเดิม โดยมีความเป็นไปได้ว่า จะเห็นกำไรไตรมาสแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น YoY จากฐานรายได้ค่าธรรมเนียมที่ต่ำในปีก่อน แต่ลดลง QoQ จากค่าใช้จ่ายด้าน IT ที่จะเพิ่มขึ้น