SGC เปิดขายหุ้น IPO โควต้าผู้ถือหุ้น SINGER 21-25 พ.ย. นี้ นักลงทุนทั่วไป 29 พ.ย.-2 ธ.ค.นี้ ที่ราคา 3.90 บาท

2245 จำนวนผู้เข้าชม  | 

SGC เปิดขายหุ้น IPO โควต้าผู้ถือหุ้น SINGER 21-25 พ.ย. นี้ นักลงทุนทั่วไป 29 พ.ย.-2 ธ.ค.นี้ ที่ราคา 3.90 บาท

นางยอดฤดี สันตติกุล กรรมการบริหาร หัวหน้าสายงานตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (ASPS) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ เอสจี แคปปิตอล (SGC) เปิดเผยว่า ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 820 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 25.8% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ ในราคาหุ้นละ 3.90 บาท เทียบมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท ผ่านบริษัทฯ และ บมจ. หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ ประเทศไทย (MST) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นร่วม พร้อมผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นอีก 4 ราย ประกอบด้วย บมจ. หลักทรัพย์ กสิกรไทย (KS) บมจ. หลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก (GBX) และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง (KTX) โดยกำหนดเปิดขายเป็น 2 ช่วง ดังนี้ 

ช่วงแรก ตั้งแต่วันที่ 21 - 25 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ เปิดขายเฉพาะผู้ถือหุ้นเดิมของ บมจ. ซิงเกอร์ ประเทศไทย (SINGER) ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pre-Emptive Rights) ในอัตราส่วน 1.4326 หุ้นสามัญของบริษัทต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SGC จำนวนไม่เกิน 574 ล้านหุ้น (คิดเป็นสัดส่วน 70% ของจำนวนหุ้นสามัญที่เสนอขายทั้งหมด) และช่วงที่สอง เปิดขายให้กับนักลงทุนทั่วไป ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน และ 1-2 ธันวาคมนี้ จำนวนไม่เกิน 246 ล้านหุ้น (คิดเป็น 30% ของจำนวนหุ้นสามัญที่เสนอขายทั้งหมด) ก่อนจะเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลางเดือนธันวาคมนี้ ในหมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ (Finance)

ด้านนางวันทนา เพชรฤกษ์วงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ MST ชี้แจงเหตุผลในการตั้งราคา IPO ที่ 3.90 บาท ว่า ใช้วิธีประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ด้วยวิธีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ หรือ P/E คำนวณจากกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลดำเนินงานช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว ถึงไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่ง SGC มีกำไรสุทธิรวม 584.06 ล้านบาท และจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วภายหลังเสนอขายต่อประชาชนในครั้งนี้จำนวน 3,270 ล้านหุ้น ได้กำไรสุทธิต่อหุ้นประมาณ 0.18 บาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิเท่ากับ 21.84 เท่า ถือเป็นราคาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน และมีส่วนลด (discount) เมื่อเปรียบเทียบแบบถ่วงน้ำหนักกับบริษัทที่ทำธุรกิจลักษณะเดียวกับบริษัทฯ 6 ราย อย่าง บมจ. เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) บมจ. ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) บมจ. ไมโคร ลิสซิ่ง (MICRO) บมจ. เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล (HENG) ช่วง 1 ปีย้อนหลัง นับจากวันที่ 10 พฤศจิกายนปีที่แล้ว ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายนปีนี้ ซึ่งมี P/E เฉลี่ยที่ 24.92 เท่า

ทั้งนี้ SGC จะนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ขยายธุรกิจให้บริการสินเชื่อเพื่อรองรับลูกค้ารายใหม่ และนำเงินทุนบางส่วนไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัทฯ ประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์และเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจ และลดข้อจำกัดด้านต้นทุนทางการเงินให้ต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมผู้ถือหุ้นใหญ่ ราว 1,600 ล้านบาท ภายในไตรมาส 3 ปีหน้า ซึ่งจะผลักดันให้บริษัทฯ  SGC มีศักยภาพในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อทั้ง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์แบบโอนกรรมสิทธิ์เล่มทะเบียน และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (รถบรรทุก รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์เพื่อการพาณิชย์) ภายใต้แบรนด์ "รถทำเงิน" สินเชื่อเช่าซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมเครื่องใช้ในครัวเรือน (Home Appliances) และเครื่องจักร (Captive Finance) รวมถึงสินเชื่อสวัสดิการพนักงาน (Debt Consolidation) และสินเชื่อผ่อนทอง (Click2Gold)

ส่วนนายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทที่ปรึกษา เอเซีย พลัส ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วม กล่าวเสริมว่า การมีเครือข่ายดีลเลอร์ (Dealer) และตัวแทน (Agent) ในกลุ่มสินเชื่อรถทำเงินที่หลากหลายกว่า 1,859 ราย มีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการบริหารคุณภาพหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีเครือข่ายสาขา และสาขาแฟรนไชส์ของบริษัทในเครือที่มีอยู่กว่า 4,154 สาขา ครอบคลุมทุกภูมิภาคในประเทศไทย ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ SGC สามารถครองใจลูกค้า ทำให้เชื่อมั่นว่า จะสามารถสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น พร้อมสร้างโอกาสการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะสินเชื่อ "รถทำเงิน" มีการเติบโตโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ จนมีสัดส่วน 45.5% ของพอร์ตสินเชื่อรวม เทียบกับช่วงสิ้นปีก่อนที่มีสัดส่วนเพียง 37.0% โดยเฉพาะสินเชื่อประเภทรถบรรทุก ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักร ที่เคยเป็นหัวหอกในการสร้างรายได้ มีสัดส่วนรายได้ลดลงจาก 59.3% เหลือ 51.4% แต่ยังคงมีการเติบโตของรายได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปีล่าสุด (2562 - 2564) บริษัทฯ มีการเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จาก 891.5 ล้านบาท เป็น 1,363.0 ล้านบาท และ 1,781.8 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิเร่งตัวจาก 119.4 ล้านบาท เป็น 416.6 ล้านบาท และ 593.0 ล้านบาท ตามลำดับ สาเหตุจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์

ขณะที่ผลดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ มีรายได้รวม 1,664.7 ล้านบาท เติบโต 27.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 467.0 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะบริษัทฯ มีการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดรับการเพิ่มขึ้นของพอร์ตลูกหนี้ และมีผลขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เพิ่มขึ้น ประกอบกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของพอร์ตสินเชื่อรถทำเงิน ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อเช่าซื้อ ทำให้อัตรากำไรสุทธิลดลงจาก 36.4% ใน 9 เดือนปีก่อน มาอยู่ที่ 28.0%   

ขณะที่นางสาวบุษบา กุลศิริธรรม กรรมการผู้จัดการ บมจ. เอสจี แคปปิตอล (SGC) ชี้แจงแนวทางผลักดันการเติบโตทางธุรกิจว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าในประเทศ ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบมีหลักประกันหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน หรือสินค้าและบริการในเครือ SINGER ตลอดจนพันธมิตรทางธุรกิจรายอื่นๆ โดยวางเป้าหมายการเติบโตของมูลค่าพอร์ตสินเชื่อเพิ่มจากช่วง 9 เดือนปีนี้ ที่ 15,102 ล้านบาท เป็น 50,000 ล้านบาท ภายในปี 2569 เพราะการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญของบริษัทฯ ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และเสริมศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้   

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้