ฺBRR รับ ปีหน้าบรรจุภัณฑ์ และเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง พร้อมขอบทนำ หลังปีนี้ได้ซีนน้อย เมื่อน้ำตาลหวาน

2504 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ฺBRR รับ ปีหน้าบรรจุภัณฑ์ และเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง พร้อมขอบทนำ หลังปีนี้ได้ซีนน้อย เมื่อน้ำตาลหวาน


บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 3 ปีนี้ พลิกจากขาดทุนสุทธิ 118.58 ล้านบาท ในปีก่อนมาเป็นกำไรสุทธิ 206.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 274% ตามรายได้จากการขายและบริการอยู่ที่ 1,634.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 709.78 ล้านบาท หรือ 76.78% หนุนให้ผลดำเนินงานงวด 9 เดือนปีนี้ บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 922.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 719%  

โอกาสนี้ นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BRR ชี้แจงสาเหตุที่ทำให้กำไรเติบโตก้าวกระโดดว่า เกิดจากรายได้จากการขายและบริการอยู่ที่ 6,677.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 3,706.92 ล้านบาท หรือ 124.79% โดยเฉพาะรายได้จากธุรกิจหลักที่เพิ่มขึ้นมาจากทั้งด้านยอดขายและราคาขายน้ำตาล โดยยอดขายน้ำตาลเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 167,660 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 123% ขณะที่ราคาขายน้ำตาลปรับสูงขึ้นเฉลี่ย 21% ต่อตันน้ำตาล อีกทั้งยังได้ปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาท และการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลักดันให้อัตรากำไรสุทธิเพิ่มจากเดิมที่ 3.79% มาเป็น 13.81%

 



ส่วนแนวโน้มผลดำเนินงานในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ น่าจะเห็นการเติบโตต่อเนื่อง จากปัจจัยเชิงบวกหลายประการ ทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาเอทานอล เมื่อกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ลดกำลังการผลิตน้ำมันลง ซึ่งจะมีผลให้ราคาน้ำมันอาจปรับสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลมากกว่าผลิตน้ำตาล อีกทั้งสถานการณ์ผลผลิตน้ำตาลของบราซิลและอินเดีย ที่เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการ อาจออกมาล่าช้ากว่ากำหนด จากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องสร้างอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวอ้อย ส่งผลให้ปริมาณส่งออกน้ำตาลมีความล่าช้า โดยมีความเป็นไปได้ด้วยว่าอาจเกิดภาวะน้ำตาลตึงตัวในตลาดโลก ช่วง 3-4 เดือนข้างหน้านี้ ขณะเดียวกัน เงินบาทที่ยังอ่อนค่าในระดับ 36-37 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ยังช่วยผลักดันรายได้จากการส่งออกให้เติบโตต่อเนื่อง เนื่องจาก BRR มีการส่งออกในสัดส่วน 70%

นอกจากนี้ ทุกธุรกิจของ BRR ช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ ต่อเนื่องปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล บรรจุภัณฑ์ หรือธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (Wood Pellet) รวมถึงความร่วมมือกับ บมจ. ซิงเกอร์ ประเทศไทย (SINGER) และ บมจ. เจมาร์ท (JMART) ล้วนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะธุรกิจน้ำตาล ซึ่งกำลังอยู๋ในช่วงการกำหนดราคาของสัญญาซื้อขายในฤดูการผลิต 2565/66 แต่คาดว่าจะยังได้ราคาดีต่อเนื่อง หลังราคาน้ำตาลในตลาดโลกปัจจุบันขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ที่ราว 19.60 เซ็นต์ต่อปอนด์

ขณะที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทย่อย ชูการ์เคน อีโคแวร์ (SEW) ปัจจุบันเดินเครื่องเต็มกำลัง 100% แล้ว จากกำลังการผลิตในเฟสที่ 1 จำนวน 14 เครื่อง หรือเดือนละ 250 ตัน แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดที่เติบโตสูงมากตามกระแสความยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทำให้บริษัทฯ เตรียมลงทุนเครื่องจักรเพิ่มอีก 14 เครื่องช่วงกลางปีหน้า เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีกเท่าตัว ต่อยอดการเติบโตของรายได้ จากทั้งยอดขายและการได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (Economy of scale) ผลักดันให้อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวสูงขึ้น

 



ส่วนธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ที่บริษัทฯ จับมือกับพันธมิตรจากญี่ปุ่น สปป. ลาว และ บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH) จัดตั้งโรงงานที่ สปป.ลาว และมีการปลูกไม้โตเร็ว เช่น กระถินณรงค์ จำนวน 4 หมื่นไร่ มีลูกค้าญี่ปุ่นเซ็นสัญญาจองซื้อแล้ว 15 ปี เพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน ซึ่งคาดว่าจะพร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งหลังปีหน้า

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้