ถึงเวลาสะสมหุ้น Domestic Plays ช่วงโค้งสุดท้ายปี 65

2333 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ถึงเวลาสะสมหุ้น Domestic Plays ช่วงโค้งสุดท้ายปี 65

จากแนวโน้มเชิงรุกของประธายกลางสหรัฐฯ (FED) และการที่อัตราเงินเฟ้อล่าสุด เดือนสิงหาคม ของสหรัฐฯ สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ ทำให้ตลาดประเมินว่า FED อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 20-21 กันยายนนี้ ในอัตรา75 bps ถึง 100 bps (0.75-1.00%) พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปลายปีนี้ อาจพุ่งแตะ 4.25-4.50% เทียบกับที่คาดไว้ 3.75-4.00% ก่อนหน้านี้ จนส่งผลให้เกิดการเทขายหุ้นทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ กสิกรไทย (KS) กลับตีความมุมมองข้างต้นว่าเป็นลบมากเกินไป เพราะอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เริ่มลดลงจากระดับสูงสุดที่ 9.1% ในเดือนมิถุนายน ลงมาอยู่ที่ 8.3% ในเดือนสิงหาคม ประกอบกับเริ่มมีการคาดหมายแล้วว่า เงินเฟ้อในไตรมาส 4 ของสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงเป็น 7.2% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เงินเฟ้อน่าจะก้าวผ่านจุดสูงสุดได้แล้ว และมีแนวโน้มด้วยว่า น่าจะอ่อนตัวลงมาที่ 3.7% ในปีหน้า และ 2.4% ในปี 2567 สอดคล้องกับเป้าหมายของ FED  

นอกจากนี้ การที่ตลาดหุ้นไทยมีผลตอบแทนจากต้นปี (YTD) ติดลบ 0.1% เทียบกับผลตอบแทนของ MSCI ACWI ที่ติดลบ 19.3% และจะยังทำผลงานได้ดีกว่าตลาดหุ้นโลก ด้วยแรงหนุนหลักจาก 

1) รายได้ภาคเกษตรที่ดีขึ้นจากผลกระทบของปรากฎการณ์ลานีญาที่ก่อให้เกิดปริมาณน้ำฝนที่สูงกว่าปกติในประเทศไทย 
2) แนวโน้มผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัว จากการปรับตัวดีขึ้นของห่วงโซ่อุปทาน หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย หนุนด้วยการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ 
3) รายได้จากภาคบริการที่สูงขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น (5 ล้านคน YTD) และการเปิดเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ 
4) อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำและเงินบาทที่อ่อนค่า เนื่องจาก ธปท. มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป 
5) แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลงจากราคาน้ำมันที่ลดลง (คาดลดลงเหลือ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในปี 2566 เทียบกับ 100 ดอลลาร์สหรํฐฯ ต่อบาร์เรล ในปี 2565) 




ดังนั้น จึงคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปีหน้าน่าจะกระจายตัวดีขึ้น มากกว่าจะเป็นการฟื้นตัวแบบ K-shaped ที่เกิดในสองปีนี้ (2564-2565) ขับเคลื่อนโดยการเปิดเศรษฐกิจใหม่อย่างเต็มรูปแบบหลังสถานการณ์โควิดคลายตัว กอปรกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รายได้ภาคเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวขาเข้าที่มากขึ้น และแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง หนุนให้การบริโภค การลงทุน และการบริการดีขึ้น ส่งผลให้หุ้นที่พึ่งพิงการบริโภคในประเทศ (Domestic plays) จะมีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้นในปีหน้าตามไปด้วย 

อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจ 3 ประเทศหลัก (สหรัฐอเมริกา จีน และประเทศในยูโรโซน) น่าจะเติบโตในอัตราชะลอตัวลง ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อรายได้ของหุ้นกลุ่มที่พึ่งพิงเศรษฐกิจโลก (Global plays) จากรายได้ในการส่งออก และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง กดดันให้ประมาณการกำไรของตลาดหุ้นไทยปีหน้าอ่อนตัวลงจาก 9.1% ในปีนี้ ลงมาเหลือ 5.7% แต่หากไม่รวมกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี กำไรของตลาดคาดจะเติบโตเพิ่มจาก 15% YoY เป็น 17% YoY   

พร้อมกันนี้ KS คาดการณ์ว่า กลุ่มธุรกิจที่น่าจะรายงานการเติบโตของกำไรสุทธิปีหน้าที่แข็งแกร่ง จะประกอบด้วย กลุ่มท่องเที่ยว (+339.1% YoY) ขนส่ง (+51.6% YoY) ผู้รับเหมา (+48.2% YoY) สื่อ (43.9% YoY) พาณิชย์ (+30.9% YoY) อาหาร (+23.5% YoY) อิเล็กทรอนิกส์ (+22.1% YoY) การเงิน (18.8%) บรรจุภัณฑ์ (17.1%) รถยนต์ (16.4%) ไอซีที  (15.2%) วัสดุก่อสร้าง (14.3%) อสังหาริมทรัพย์ (13.2%) และธนาคาร (10.3%) 

ในทางกลับกัน กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะรายงานกำไรสุทธิเติบโตติดลบ จะมีกลุ่มปิโตรเคมี (-2.4% YoY) พลังงาน (-11.3% YoY) และโรงพยาบาล (-12.9% YoY) หากไม่รวมกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี กำไรของตลาดคาดจะเติบโตขึ้น 15% YoY และ 17% YoY ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ  

เพราะฉะนั้น Theme ในการลงทุนช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ ต่อเนื่องปีหน้า จึงได้เวลาเปลี่ยนไปสะสมหุ้น Domestic plays ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตดีขึ้น และมีสัดส่วนการถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติต่ำ ที่ยัง laggard โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มผู้รับเหมา สื่อ พาณิชย์ อาหารและเครื่องดื่ม การเงิน บรรจุภัณฑ์ รถยนต์ ไอซีที วัสดุก่อสร้าง และธนาคาร) แทนที่หุ้นผู้นำตลาด และมีการถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติสูง อย่างกลุ่มโรงพยาบาล อิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน และอสังหาริมทรัพย์  

สำหรับสมมติฐานที่ใช้ในการประเมินแนวโน้มตลาดปีหน้า KS ให้น้ำหนักกับกรณีพื้นฐาน ที่คาดเศรษฐกิจไทยเติบโต 2.9% ในปีนี้ และ 4.5% ในปีหน้า ส่วนราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ และ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีหน้า ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1.00% และสิ้นปีหน้าที่ 1.50% ทำให้ดัชนีเป้าหมายน่าจะอยู่ที่ 1,740 จุด   

แต่หากเศรษฐกิจเติบโตช้าลงในปีหน้า เหลือ 1.5-2.0% ในปีหน้า จากผลกระทบของเงินเฟ้อ และการส่งออกที่อ่อนตัวลง จะมีผลให้ดัชนีเป้าหมายถอยลงมาอยู่ที่ 1,640 จุด     
ส่วนกรณีอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค จากประเทศเศรษฐกิจหลักเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง ในลักษณะ Hard Landing หลังธนาคารกลางเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย น่าจะมีความเป็นไปได้น้อย 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้