กสทช. ขอ ก.ย. พิจารณาแผนควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC

2123 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กสทช. ขอ ก.ย. พิจารณาแผนควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ด กสทช. เพื่อพิจารณารายงานการขอควบรวมกิจการระหว่าง บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลดังนี้ คือ

1) ผลศึกษาและวิเคราะห์การควบรวมธุรกิจระหว่าง 2 บริษัท จากคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ 2) ผลสรุปการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด จาก 3 กลุ่ม 3) รายงานการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ต่อการควบรวมธุรกิจ ของสำนักงาน กสทช. 4) ร่างผลการศึกษาของที่ปรึกษาวิเคราะห์การควบรวมธุรกิจ โดยศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 5) รายงานของที่ปรึกษาอิสระในการจัดทำความเห็นประกอบรายงานการรวมธุรกิจ โดยบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า (FNS) 

หลังจากได้รับฟังข้อมูลดังกล่าวจากสำนักงาน กสทช. บอร์ด กสทช.ทั้ง 5 คน มีความเห็นร่วมกันว่า ข้อมูลที่นำเสนอมายังไม่ครบถ้วนและรอบด้านเพียงพอ ยังขาดข้อมูลสำคัญ ทั้งเพื่อประกอบการพิจารณาผลกระทบด้านต่างๆ และเพื่อนำไปสู่มาตรการในการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเพื่อป้องกันผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดต่อตลาดและอุตสาหกรรม ตลอดจนประชาชนผู้ใช้บริการ จึงมีมติให้สำนักงาน กสทช. ไปทำการวิเคราะห์ที่มีหลักฐานทางวิชาการ และข้อมูลเชิงประจักษ์ รองรับเพิ่มเติม ในประเด็นต่อไปนี้

• วิเคราะห์โครงสร้างการรวมธุรกิจของ TRUE และ DTAC รวมถึงผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมดที่ 2 บริษัท (รวมถึงบริษัทใหม่หากมีการควบรวมธุรกิจแล้ว) มีอำนาจควบคุม
• วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจ การแข่งขันในตลาดของผู้รับใบอนุ าตการประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่บริษัทใหม่ เข้าเป็นผู้มีอำนาจควบคุม
• วิเคราะห์ผลดีอันเกิดจากการประหยัดเนื่องจากขนาด (economies of scale) อย่างเป็นรูปธรรม และแนวทางในการส่งต่อผลดีดังกล่าวไปยังผู้บริโภคอย่างประเมินได้ชัดเจน
• วิเคราะห์การถือครองคลื่นของบริษัทใหม่ ว่า จะก่อให้เกิดการได้เปรียบ และมีผลต่อการแข่งขันในตลาดหรือไม่ อย่างไร
• วิเคราะห์แนวทางในการลดอัตราค่าบริการ การรักษาคุณภาพการบริการ เพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
• วิเคราะห์มาตรการการส่งเสริม MVNO (บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ แบบโครงข่ายเสมือน) และเสนอแนวทางในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ เพื่อให้ MVNO สามารถเกิด คงอยู่ และแข่งขันได้ในตลาด เพื่อเพิ่มระดับการแข่งขันให้สูงขึ้น รวมทั้งทางเลือกให้ผู้บริโภค

ทั้งนี้ บอร์ด กสทช. มองว่า ข้อมูลดังกล่าวมีความจำเป็น สำหรับการออกแบบมาตรการเพื่อป้องกันการผูกขาดตลาดโทรคมนาคม หรือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลของ กสทช. ตามกฎหมาย โดยให้สำนักงาน กสทช. รายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานที่มอบหมายต่อบอดร์ด กสทช. โดยเร็ว ซึ่งความคืบหน้าล่าสุด จะขยายเวลาออกไปเป็นเดือนกันยายน

ผลการพิจารณาจาก บอร์ด กสทช. ข้างต้น ทำให้สำนักงาน ก.ล.ต. ออกมาประกาศให้แผนดำเนินการต่างๆ ในการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC รวมถึงการรับซื้อหุ้นของ TRUE และ DTAC จากผู้ถือหุ้นเดิม ต้องชะลอออกไป จนกว่าจะมีผลการพิจารณาที่ชัดเจนจาก กสทช. ออกมา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้