1807 จำนวนผู้เข้าชม |
บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท. สผ. เปิดเผยผลดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปีนี้ สรุปได้ว่า บริษัทฯ มีรายได้รวม 4,543 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เทียบเท่า 153,528 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ที่มีรายได้รวม 3,546 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เทียบเท่า 109,658 ล้านบาท) โดยมีปัจจัยหลักจากยอดขายปิโตรเลียมเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 446,519 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน คิดเป็น 8% YoY ผลักดันโดยการรับรู้ยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากโครงการโอมาน แปลง 61 และปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบที่ ปตท.สผ. เข้าเป็นผู้ดำเนินการโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ ปลาทอง สตูล และฟูนาน) ประกอบกับราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
สำหรับกำไรสุทธิช่วงครึ่งปีแรก อยู่ที่ 918 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เทียบเท่า 31,119 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 54% YoY ที่มีกำไรสุทธิ 598 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เทียบเท่า 18,673 ล้านบาท) โดยมีต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) อยู่ที่ 27.72 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
ส่วนผลประกอบการไตรมาส 2 PTTEP มีรายได้รวม 2,469 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เทียบเท่า 84,955 ล้านบาท) และมีกำไรสุทธิ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เทียบเท่า 20,600 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 89% QoQ หนุนโดยยอดขายจากโครงการจี 1/61 และราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก
จากผลดำเนินงานข้างต้น ทำให้บริษัทฯ ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี ในอัตราหุ้นละ 4.25 บาท กำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 16 สิงหาคม และจ่ายเงินปันผลวันที่ 26 สิงหาคมนี้
โอกาสนี้ นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท. สผ. ขี้แจงว่า ผลดำเนินงานงวดครึ่งแรกปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จทั้งจากการดำเนินธุรกิจ และการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามแผนงานที่วางไว้ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังหาโอกาสลงทุนในธุรกิจใหม่ (Beyond E&P) รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต โดยมีความคืบหน้าการดำเนินงานและความร่วมมือในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การริเริ่มศึกษาและพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำร่องโครงการแรกในประเทศที่แหล่งอาทิตย์ ในอ่าวไทย ซึ่งคาดว่าจะตัดสินใจลงทุนช่วงปลายปีหน้า ก่อนเดินหน้าต่อยอดไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ (Carbon Capture, Utilization and Storage หรือ CCUS) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ต่อไป
ขณะเดียวกัน PTTEP ได้เริ่มพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่โครงการเอส 1 กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สำหรับใช้ในโครงการเอส 1 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการผลิตไฟฟ้าได้ในไตรมาสแรกปีหน้า นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าศึกษาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ในหลากหลายรูปแบบ คาดว่าจะทยอยมีความคืบหน้าเพิ่มเติมป็นระยะๆ
สำหรับความคืบหน้าในการเข้าเป็นผู้ดำเนินการโครงการจี 1/61 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ทำการติดตั้งแท่นหลุมผลิตไปแล้ว 2 แท่น และจะติดตั้งแท่นที่เหลืออีก 6 แท่น ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ วางท่อใต้ทะเลทั้งหมด 8 เส้น โดยจะเร่งเจาะหลุมผลิตใหม่เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติ ให้ได้ตามเงื่อนไขในสัญญาแบ่งปันผลผลิต รองรับความต้องการใช้พลังงานและเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
ส่วนความคืบหน้าของโครงการต่างประเทศ ล่าสุด บริษัทฯ ได้เริ่มผลิตน้ำมันดิบจากโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ แล้วในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายการผลิตที่อัตรา 13,000 บาร์เรลต่อวัน
พร้อมกันนี้ PTTEP ยังได้ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากหลุมสำรวจแรกในยูเออี ซึ่งนับเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่อีกแหล่งหนึ่งที่ค้นพบในช่วง 2-3 ปีมานี้ โดยผลการประเมินเบื้องต้น พบว่า มีปริมาณก๊าซธรรมชาติในแหล่งกักเก็บโดยรวมประมาณ 2.5-3.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งบริษัทฯ และพันธมิตร อีเอ็นไอ (PTTEP ลงทุนผ่านบริษัทย่อย PTTEP Mena ถือหุ้นในสัดส่วน 30% และอีเอ็นไอ อาบูดาบี ถือหุ้นในสัดส่วน 70%) พร้อมผนึกกำลังร่วมกันเพื่อผลักดันและเร่งการพัฒนาโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 ให้สำเร็จ เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมและเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติให้บริษัทฯ รวมถึงแผนเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติของยูเออีในอนาคตอีกด้วย
ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีการลงทุนในยูเออีร่วมกับอีเอ็นไอทั้งหมด 4 โครงการ ได้แก่ โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 1 โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 3 และโครงการชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย ซี ซึ่งทุกโครงการอยู่ในระยะสำรวจ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP ยังทิ้งท้ายด้วยว่า ปตท.สผ. ได้นำรายได้ส่งให้กับรัฐ ซึ่งอยู่ในรูปภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง โบนัสการผลิต และส่วนแบ่งผลประโยชน์ต่างๆ ในครึ่งแรกปีนี้ ประมาณ 50,000 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการพัฒนาชุมชน การศึกษา หรือการวิจัยและพัฒนา