1853 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจาก บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย (DELTA) ประกาศผลดำเนินงานไตรมาส 2 สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติ การณ์ เหนือคาดหมายของตลาด โดยมีกำไรปกติ 3.92 พันล้านบาท ขยายตัว 173.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และ 74.2% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เนื่องจากยอดขายแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 809 ล้าเหรียญสหรัฐฯ และมีอัตรากำไรขั้นต้นที่แข็งแกร่ง ระดับ 25.1% จนทำให้มีแรงเก็งกำไรโถมเข้ามาในหุ้น DELTA และ 3 หุ้นหัวแถวกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) และเอสวีไอ (SVI) อย่างพร้อมเพรียง และกลายเป็นหุ้นที่ชี้นำการปรับขึ้น หรือลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ต่อเนื่องต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ความร้อนแรงของหุ้นกลุ่มนี้ที่หนุนจากข่าวผลดำเนินงาน ถือได้ว่าไม่เกินความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะหากย้อนไปดูผลการศึกษาของฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์บัวหลวง (BLS) จะพบว่า หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กคทรอนิกส์ จะมีรายได้เติบโตแข็งแกร่งในไตรมาส 2 หนุนโดยอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในกลุ่มคลาวด์ ศูนย์ข้อมูลยานยนต์ไฟฟ้า และกลุ่มผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ที่สำคัญ การเติบโตของยอดขายดีขึ้น ทั้งเมื่อเทียบปีต่อปี (YoY) และไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) จากการประเมินเบื้องต้น BLS คาดรายได้รวมจะเติบโต 33% YoY และ 10% QoQ โดยมี SVI เป็นผู้นำกลุ่ม (เติบโต 53% YoY และ 2% QoQ) ตามด้วย KCE (เติบโต 42% YoY และ 10% QoQ) และ DELTA (เติบโต 37% YoY และ 15% QoQ) ในทางกลับกัน คาดยอดขายของ HANA จะทรงตัว YoY และ QoQ จากปัญหาด้านอุปทาน
แต่หากมองด้านกำไร ค่ายนี้เชื่อมั่นว่า DELTA จะเป็นผู้นำการเติบโตของกำไรไตรมาส 2 (คาดเติบโต 98% YoY และ 26% QoQ) ตามด้วย SVI (เติบโต 83% YoY และ 29% QoQ) KCE (เติบโต 34% YoY และ 35% QoQ) และ HANA (หดตัว 49% YoY และ 2% QoQ)
“ผลดำเนินงานที่แข็งแกร่งของ DELTA หนุนจากอุปสงค์กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า และการเป็นขาขึ้นของยอดขายที่เกี่ยวกับคลาวด์ระดับบน และศูนย์ข้อมูล (ให้อัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่า 30% เทียบกับอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยที่ 20%) ส่วน SVI ได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับไมโครอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าที่เกี่ยวกับเรื่อง 5G อีกทั้งยังจะรับรู้งบการเงินของ Tohoku Solutions เข้ามาด้วย สำหรับ KCE การที่เครื่องจักรใหม่ทำงานได้อย่างไม่มีปัญหา ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตกลับสู่ระดับ 80-90% ผลักดันยอดขาย PCB ให้เพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน HANA นอกจากจะต้องเผชิญกับปัญหาด้านอุปทานแล้ว ยังถูกกดดันจากต้นทุนวัตถุดิบที่แพงขึ้น และไม่สามารถเจรจาต่อรองเพิ่มราคาขายได้ทันที กดดันให้อัตรากำไรขั้นต้นของ HANA ลดลง” นภนต์ ใจแสน นักวิเคราะห์ของ BLS ขมวดประเด็น
อย่างไรก็ดี หากประเมินภาพแนวโน้มครึ่งหลังปีนี้ สถานการณ์มีโอกาสพลิกผัน เมื่อตลาดปลายน้ำที่เคยโดดเด่น เริ่มแสดงสัญญาณการชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคลาวด์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน หรือกลุ่มพีซี จะได้รับผลกระทบอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะฉะนั้น การเลือกลงทุนหุ้นกลุ่มนี้ในครึ่งปีหลัง จำเป็นต้องให้น้ำหนักกับแนวโน้มรายได้ของธุรกิจในตลาดปลายน้ำข้างต้น ขณะเดียวกัน ราคาหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ก็มีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างภูมิภาค จึงมีความเป็นไปได้ที่กำไรไตรมาส 2 อาจเป็นจุดสูงสุดของรอบนี้แล้ว
ดังนั้น กลยุทธ์ลงทุนหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในครึ่งปีหลัง อาจต้องเน้นเก็งกำไร (Trading buy) ตามรอบเป็นหลัก เพราะไม่อาจคาดหวังปัจจัยใหม่ๆ หนุนกำไร หรือมูลค่าหุ้น ที่มีนัยยะพอ ค่าย BLS จึงคงราคาเป้าหมาย DELTA ที่ 440 บาท KCE ที่ 73 บาท SVI ที่ 7 บาท และ HANA ที่ 40 บาท
สำหรับราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA Concencus) ให้ไว้ ล่าสุด DELTA อยู่ที่ 432.50 บาท KCE ที่ 69 บาท SVI ที่ 9 บาท และ HANA ที่ 48 บาท