1687 จำนวนผู้เข้าชม |
บมจ. ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ประกาศผลดำเนินงานงวดครึ่งปีแรก สรุปได้ว่า มีกำไรสุทธิ 14,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 13.9% จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อ ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.18% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 19.8% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากธุรกิจหลักทรัพย์ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับปริมาณเงินให้สินเชื่อที่ขยายตัว
ด้านค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 2.8% เพราะมีค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงาน (Cost to Income Ratio) อยู่ที่ 50.4%
ทั้งนี้ ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ทั้งสิ้น 14,843 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะยังคงยึดหลักความระมัดระวังในการตั้งสำรองโดยพิจารณาถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่
สำหรับเงินให้สินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 2 อยู่ที่ 2.65 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% จากสิ้นปีก่อน ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวม ยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ 3.4% ขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 232.5% เพราะธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบมาอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 84.3%
ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง อยู่ที่ 18.9% แยกเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 และเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อย ที่ 15.4% และ 14.6% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
สำหรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจครึ่งปีหลัง ทางผู้บริหาร BBL บอกว่า พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยให้การสนับสนุนภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียน พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจตามแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ แต่ต้องอยู๋ในเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศกดดันอย่างต่อเนื่อง คู่ขนานไปกับการรักษาเสถียรภาพ ทั้งฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง