1736 จำนวนผู้เข้าชม |
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ ส่งผลให้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมีสัดส่วนสูงราว 90% ของ GDP ยิ่งภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันถูกกดดันจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจยังมีสัญญาณความเปราะบางรุมเร้า ทำให้แนวโน้มหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) มีโอกาสเร่งตัวเพิ่มขึ้นได้อีก
ดังนั้น บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) จึงตัดสินใจร่วมลงทุนกับ บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค (JK AMC) ขึ้นมา เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการบริหารหนี้เสียของธนาคาร เพิ่มเติมจากที่บริหารจัดการเองภายใน และเปิดประมูลขาย เพื่อให้การบริหารธุรกิจมีประสิทธิภาพสูงที่สุด และได้ผลตอบแทนดีที่สุด
โอกาสนี้ นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ KBANK ชี้แจงว่า การขายหนี้เสียให้ JK AMC นอกจากธนาคารจะได้รับเงินจากการขายหนี้แล้ว ธนาคารยังจะได้รับส่วนแบ่งจากผลกำไรที่เกิดจากการบริหารหนี้ของ JK AMC ด้วย จากการถือหุ้น JK AMC ในสัดส่วน 50% ผ่านการลงทุนโดยบริษัทย่อย กสิกร วิชั่น (K-VISION) เช่นเดียวกับกลุ่ม JMT ที่ลงทุนผ่านบริษัทย่อย บริษัทบริหารสินทรัพย์ เจ (JAM)
ในเบื้องต้น KBANK มีแผนขาย NPL ให้ JK AMC จำนวน 50,000 ล้านบาท ภายในปีนี้ ซึ่งการขายหนี้ครั้งนี้ จะส่งผลให้ NPL และการตั้งสำรองในอนาคตของธนาคารลดลง ทำให้ธนาคารมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ได้
ด้านนายปิยะ พงษ์อัชฌา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจ มาร์ท (JMART) และกรรมการ บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) บอกว่า JK AMC มีเงินทุนเริ่มต้น 10,000 ล้านบาท เพื่อซื้อ NPL ทั้งที่มีหลักประกัน (Secure) และไม่มีหลักประกัน (Unsecure) จาก KBANK รวมถึงสถาบันการเงิน หรือบริษัทอื่นๆ มาบริหารจัดการ ซึ่งทางกลุ่มเชื่อมั่นว่า JK AMC จะสามารถทำหน้าที่ได้บรรลุเป้าหมายที่ทั้ง 2 องค์กร ตั้งไว้ อีกทั้งยังจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือผ่านข้อเสนอการชำระหนี้ที่เหมาะสม และเมื่อสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นก็ จะสามารถกลับมาขอสินเชื่อในระบบต่อไป
ส่วนนายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMT และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค (JK AMC) เสริมว่า บริษัท JK AMC ได้ถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการ และเริ่มดำเนินธุรกิจแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าหมายก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ภายใน 3 ปี ด้วยมูลค่าพอร์ตราว 1 แสนล้านบาท จากการผสมผสานจุดแข็งเรื่องความเชี่ยวชาญในบริหารหนี้ของ JMT และบริษัทในกลุ่ม JMT เพื่อช่วยให้ JK AMC มีต้นทุนที่แข่งขันได้ เข้ากับการใช้ช่องทางต่างๆ ของ KBANK ช่วยประชาสัมพันธ์ทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ไปสู่ลูกค้าที่สนใจ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้ซื้อ NPA ทั่วประเทศ เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้ครบวงจร สร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ เช่น การรับปรับปรุงบ้านให้กับผู้ซื้อทรัพย์สินด้อยคุณภาพ ด้วยราคาที่สมเหตุสมผล และให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่มีประวัติเครดิตที่ดี
สำหรับการเข้าซื้อ NPL ปีนี้ JK AMC จะให้น้ำหนักกับสินทรัพย์ที่ไม่มีหลักประกัน 70% ที่เหลือ 30% จะมีหลักประกัน พร้อมตั้งเป้าบริหารธุรกิจให้มีอัตรากำไรสุทธิ (net margin) ในระดีบเดียวกับที่ JMT ทำได้ที่่ 25%
ในเบื้องต้น ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที (KTBST) มองความชัดเจนในการเข้าซื้อหนี้เสียปีนี้ ของ JK AMC ที่มูลหนี้สูงถึง 5 หมื่นล้านบาท (คิดเป็น 21% ของมูลหนี้เสียสิ้นปีที่แล้ว และสูงกว่าที่บริษัทฯ เคยซื้ อสูงสุดในอดีตที่ 3.3 หมื่นล้านบาท) จะหนุนให้ JMT เริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไร และรายได้จากการบริหารหนี้ ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป จึงปรับประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ขึ้น 3% เป็น 2.2 พันล้านบาท (+58% YoY) และปีหน้าขึ้น 11% เป็น 3.5 พันล้านบาท (+57% YoY) จากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก JK AMC ปีนี้ 38 ล้านบาท และปีหน้า 242 ล้านบาท และรายได้จากการบริหารจัดการธุรกิจของ JK AMC โดยยังคงประมาณการการเข้าซื้อหนี้เสียของบริษัทฯ ที่ต้นทุนปีละ 1.0-1.5 หมื่นล้านบาท
ฝ่ายวิจัยฯ ปรับคำแนะนำขึ้นเป็น "ซื้อ” จากแนวโน้มผลดำเนินงานของ JMT ที่ คาดจะขยายตัวสูงตามการเข้าลงทุนใน JK AMC ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิภาพในการเข้าซื้อและบริหารกองหนี้เสียขนาดใหญ่ ผลักดันให้ผลดำเนิ นงานเฉลี่ย 3 ปีข้างหน้า (ปี 2566-2568) ขยายตัวต่อเนื่ องสูงถึง 26% ROE ระยะยาวเพิ่มขึ้นเป็น 24% จากเดิม 17% พร้อม rollover ไปใช้ราคาเป้าหมายปีหน้า โดยให้ราคาเป้าหมายใหม่ที่ 100 บาท พร้อมปรับคำแนะนำขึ้นเป็น “ซื้อ” ถึงแม้ราคาหุ้นจะ outperform SET 26% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จากการเข้าคำนวณ SET50
ส่วน KBANK การจัดตั้ง JK AMC จะช่วยให้ธนาคารมี upside จากการขาย NPL และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก JK ราว 8 พันล้านบาท (one-time item) คิดเป็น upside ต่อประมาณกำไรสุทธิปีนี้ที่ 19% แต่เนื่องจากธนาคารเตรียม downgrade การจัดชั้นหนี้จาก stage 2 ลงมาเป็น stage 3 เพิ่มเติม จึงยังคงเป้าหมายทางการเงิน โดยเฉพาะ credit cost ไว้ไม่เกิน 160 bps และเป้า NPL ที่ 3.7-4.0% ตามเดิม โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะนำเอากำไรพิเศษที่ได้มาตั้งสำรองฯ เพิ่มบางส่วน จึงทำให้ฝ่ายวิจัยฯ คงประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ที่ 4.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% YoY ขณะที่กำไรสุทธิ คาดว่าจะอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% YoY และ 2% QoQ จากการตั้งสำรองฯ ลดลง
KTBST ยังคงเลือก KBANK เป็น Top pick กลุ่มธนาคารพาณิชย์ พร้อมแนะนำ "ซื้อ” เพราะราคาหุ้นยังไม่แพง โดยซื้อขายที่ P/BV เพียง 0.73 เท่า (-1.5 SD below 10-yr average P/BV) เทียบกับราคาเป้าหมายที่ 190 บาท อิง P/BV ที่ 0.90 เท่า (-1.0 SD below 10-yr average P/BV)
ด้านเอเซีย พลัส (ASPS) ปรับประมาณการกำไรสุทธิของ JMT ปีนี้ขึ้น 0.2% เป็น 2.0 พันล้านบาท (+46% YoY) และปีหน้าขึ้น 5.5% เป็น 2.9 พันล้านบาท (+42% YoY) จากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก JK AMC ซึ่งจะมีผลให้ราคาเป้าหมายปีหน้า ควรอยู่ที่ 100 บาท
ขณะที่ KBANK การจัดตั้ง JK AMC จะช่วยให้ธนาคารมีภาระการกันสำรองฯ ลดลง ซึ่งจะเอื้อต่อการขยายสินเชื่อในระยะยาว มากกว่ารายได้ที่เกิดจากบริษัทร่วมทุน ที่มีสัดส่วนเพียง 0.3-0.5% จึงยังคงประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ และปีหน้า ที่ 4.25 หมื่นล้านบาท และ 4.58 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ พร้อมคงราคาเป้าหมายปีนี้ ที่ 174 บาท ตามเดิม