KTB กำไรสุทธิไตรมาสแรก 8,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% จากสินเชื่อโต ต้นทุนการเงินลด

850 จำนวนผู้เข้าชม  | 

KTB กำไรสุทธิไตรมาสแรก 8,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% จากสินเชื่อโต ต้นทุนการเงินลด

บมจ. ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประกาศผลดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 8,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น 77.6% จากไตรมาสที่ผ่านมา (QoQ) และเพิ่มขึ้น 57.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) โดยรายได้รวมขยายตัวทั้งจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 5.6% จากสินเชื่อที่เติบโตดีทั้งสินเชื่อภาครัฐ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อรายย่อย อีกทั้งธนาคารมีการบริหารต้นทุนทางการเงินได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน ยังมีรายได้จากการดำเนินงานอื่นที่ขยายตัว รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ Cost to Income ratio ลดลงจาก 44.25% ในไตรมาสแรกปีก่อน เหลือ 41.25%

ขณะเดียวกัน ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 5,470 ล้านบาท ก็ลดลง 32.1% YoY เพราะธนาคารยึดหลักระมัดระวัง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์  โดยมี NPLs Ratio อยู่ที่ 3.34% ลดลงจาก 3.50% ณ สิ้นปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังสามารถรักษาระดับของ Coverage ratio ได้ในระดับสูงกว่าสถานการณ์ปกติ อยู่ที่ 173.6% เทียบกับ 168.8% ณ สิ้นปีที่ผานมา

ส่วนอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง อยู่ที่ 16.34% และ 19.67% ตามลำดับ อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย อีกทั้งในเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ธนาคารได้ออกตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนประเภทที่ 2 อายุ 10 ปี จำนวน 18,080 ล้านบาท ซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ AA(tha) แนวโน้มคงที่ จากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของเงินกองทุน เพิ่มขีดความสามาถในการแข่งขัน และรองรับการขยายตัวของธุรกิจ

สำหรับในช่วงที่เหลือของปีนื้ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ KTB ยืนยันว่า ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง เพื่อบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดีอย่างต่อเนื่อง รักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูง ทั้งเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันในอนาคต และรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในจีน การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ กดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้น กดดันให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตลดลง สวนทางอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้น รวมถึงดูแลช่วยเหลือลูกค้าที่มีศักยภาพทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด ครอบคลุมลูกค้ารายย่อย และลูกค้าธุรกิจ  ทั้งมาตรการระยะเร่งด่วน มาตรการเฉพาะกลุ่ม และมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตและเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้