942 จำนวนผู้เข้าชม |
การเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ บมจ. เจดีฟู้ด (JDF) ไม่สร้างความผิดหวังให้นักลงทุนที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนเสนอขายประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 150 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 2.60 บาท เมื่อราคาหุ้นยืนเหนือจองตลอดวัน
โดยหลังจากเปิดตลาดที่ 3.20 บาท สูงกว่าราคาจอง 60 สตางค์ คิดเป็นผลตอบแทน 23% มีแรงขายทำกำไรออกมากดราคาหุ้นลงมาแตะจุดต่ำสุด บริเวณ 3.14 บาท จากนั้นก็มีแรงซื้อโถมเข้ามาเป็นระยะๆ ดันราคาหุ้นให้ทะยานขึ้นมาเป็นลำดับ กระทั่งปิดภาคเช้าที่ 4.70 บาท สูงเกินจอง 2.10 บาท หรือ 80.8% ก่อนแกว่งแคบๆ ในชั่วโมงการซื้อขายภาคบ่าย
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายของการซื้อขาย กลับมีแรงซื้อโถมเข้ามาหนุนราคาหุ้นทะยานขึ้นมาเป็นลำดับ กระทั่งปิดที่จุดสูงสุดของวัน ที่ 5.50 บาท ให้ผลตอบแทนกว่า 111% และยังสูงเกินราคาเหมาะสมที่ทางผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นให้ไว้ในกรอบระหว่าง 3.47 - 4.20 บาท อีกด้วย
ไม่ว่าราคาหุ้นจะเป็นเช่นไร แต่นางสาวรัตนา เอี้ยประเสริฐศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JDF ยังคงยืนยันภาพธุรกิจปีนี้ว่า บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าจะสามารถผลักดันรายได้ปีนี้ให้เติบโตจากปีก่อนไม่น้อยกว่า 25% หนุนโดยธุรกิจเครื่องปรุงรส และอาหารแปรรูป ที่เริ่มฟื้นตัวตามการเปิดเมืองตั้งแต่ไตรมาสแรกแล้ว ทำให้ลูกค้า ทั้งกลุ่มที่เป็นแบรนด์ชั้นนำในอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มร้านอาหารที่มีการขยายสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง (Food chain) มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น และต่อยอดมายังผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของบริษัทฯ เองด้วย
ขณะเดียวกัน ความสำเร็จจากงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีโอกาสเติบโตสูง เช่น กลุ่มแป้งชุบแป้งทอดสำเร็จรูป (Better Mix) ก็มีคำสั่งซื้อจากลูกค้าเข้ามาเรียบร้อยแล้ว และน่าจะขยายผลต่อไปยังผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีการพัฒนาด้านนวัตกรรม อย่างสินค้ากลุ่มผักและผลไม้อบแห้ง เพื่อรองรับตลาดขนมขบเคี้ยวสาย Healthy Food ที่ใช้เทคโนโลยีการอบ 100% กลุ่มอาหารโปรตีนจากพืช รวมไปถึงกลุ่มสินค้าอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่เป็นแบรนด์ของบริษัทฯ เอง
สำหรับธุรกิจกัญชง ในส่วนธุรกิจต้นน้ำ มีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับพันธมิตร MOU) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้สามารถเริ่มวิจัยและพัฒนาสูตรต่างๆ ร่วมกับลูกค้าได้แล้ว เหลือแค่การรอใบอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อให้บริษัทฯ สามารถเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายได้เท่านั้น
ขณะที่แผนขยายตลาดภูมิภาคอินโดจีน (CLMV) จะเริ่มต้นในเวียดนามก่อน เพราะเศรษฐกิจมีการเติบโตโดดเด่นที่สุดในภูมิภาค โดยในเบื้องต้น บริษัทฯ จะเข้าไปจัดตั้งสำนักงาน และแล็บวิจัยก่อน ส่วนการจำหน่ายสินค้าจะใช้วิธีส่งออกผลิตภัณฑ์จากไทยนำร่องก่อน ซึ่งคาดว่า จะเริ่มเห็นผลในทางปฏิบัติช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้าเป็นอย่างช้า