643 จำนวนผู้เข้าชม |
ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยว่า ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และการพัฒนานวัตถกรรมด้านพลังงาน ทำให้บริษัทฯ มีการลงทุนในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เพื่อซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดสำหรับลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมของ บมจ. ดับบลิวเอชเอ (WHA)
ล่าสุด บริษัทฯ ได้พัฒนาระบบซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer Energy Trading โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทดลองด้านนวัตกรรมพลังงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ERC Sandbox) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ และพันธมิตรชั้นนำด้านพลังงานและด้านเทคโนโลยี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถประมูลซื้อหรือขายไฟฟ้าจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างกันเองได้อย่างเสรี ผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ปัจจุบันได้เริ่มการทดสอบการซื้อขายไฟฟ้าแล้ว โดยมีผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมของ WHA เข้าร่วมโครงการนี้มากถึง 23 บริษัท ก่อนจะขยายขอบเขตการเปิดให้บริการซื้อขายเชิงพาณิชย์ หากภาครัฐอนุมัติเรียบร้อยแล้ว
ด้านนายธัชกรณ์ วชิรมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท เซอร์ทิส จำกัด (SERTIS) บอกว่า ในฐานะที่บริษัทฯ ทำหน้าที่ให้คําปรึกษาและพัฒนาข้อมูล เทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลโซลูชั่น จึงมีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้าพัฒนาโครงการ "ระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะด้วยดิจิทัล" (Renewable Exchange Energy Platform - RENEX) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) มาใช้เป็นพื้นฐานของแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มุ่งหวังที่จะสร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายที่ใช้แพลตฟอร์ม ทั้งในส่วนของการใช้งาน ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายพลังงาน สามารถทำการซื้อ-ขายพลังงานแสงอาทิตย์ในราคาและปริมาณที่ต้องการบนแพลตฟอร์มที่มีความเสถียรปลอดภัย ผ่านระบบการจับคู่และประมูลราคาที่คิดค้นร่วมกันกับ PTT จนได้รับการรับรองด้วยอนุสิทธิบัตร “วิธีการซื้อขายไฟฟ้าโดยมีโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หรือ Smart Energy Platform” จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ และในส่วนของเซอร์ทิสเอง ในฐานะผู้ดูแลระบบ (platform operator) เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบให้มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือและตรวจสอบข้อมูลได้ และในอนาคตเราจะนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ มาใช้ในการพัฒนาระบบให้ตอบโจทย์ต่อรูปแบบการใช้งานและความต้องการของผู้ใช้งานให้เหมาะสมและดียิ่งขึ้น
ส่วนนายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่ และโครงสร้างพื้นฐาน บมจ. ปตท. (PTT) เสริมว่า ระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ เป็นเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของกลุ่ม ปตท. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพลังงาน และยกระดับนวัตกรรมพลังงานยั่งยืนของประเทศ ตามกรอบวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” ความร่วมมือที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ถือเป็นพลังที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมพลังงานของประเทศให้มีความพร้อมและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนในการผลิตพลังงานในอนาคตต่อไป
โครงการนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ศักยภาพของเทคโนโลยี ประกอบกับความสามารถของบุคลากรในการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ช่วยอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการดำเนินงานของอุตสาหกรรมการซื้อขายพลังงานสะอาด และความสำเร็จในก้าวแรกนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้ารายย่อยสามารถเติบโตอย่างมั่นคง ทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคต่อไปในอนาคต