634 จำนวนผู้เข้าชม |
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) เปิดเผยว่า บริษัท พีทีทีอีพี เอชเค ออฟชอร์ (PTTEP HKO) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย และบริษัท ซาปุระโอเอ็มวี อัพสตรีม มาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุน ได้ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract) กับหน่วยงาน Malaysia Petroleum Management ของปิโตรนาส เพื่อเข้ารับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงเอสบี 412 ในประเทศมาเลเซีย ความสำเร็จครั้งนี้ ส่งผลให้ปัจจุบัน ปตท.สผ. เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในมาเลเซีย รวมทั้งสิ้น 12 สัญญา
ทั้งนี้ แปลงเอสบี 412 มีพื้นที่ประมาณ 15,914 ตารางกิโลเมตร จากการศึกษาข้อมูลด้านธรณีวิทยาในเบื้องต้น พบว่า มีศักยภาพปิโตรเลียม เพราะพื้นที่ใกล้เคียงมีการค้นพบปิโตรเลียมแล้ว นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานในบริเวณดังกล่าวยังมีความพร้อมสำหรับการผลิตปิโตรเลียมอีกด้วย ซึ่ง ปตท.สผ.จะทำการวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ และศึกษาด้านธรณีวิทยาโดยละเอียด เพื่อประเมินศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมต่อไป ใน 2 ปีนี้
"การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ผนวกกับองค์ความรู้ ซึ่งสะสมมาโดยตลอด เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ มองเห็นภาพทางธรณีวิทยาในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถค้นพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ ในมาเลเซียได้อย่างต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมา และได้รับการยอมรับในวงกว้าง สำหรับครั้งนี้ ปตท.สผ. เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือกับซาปุระ โอเอ็มวี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ จะทำให้การสำรวจแปลง เอสบี่ 412 ประสบความสำเร็จด้วยดีเช่นกัน" นายมนตรี กล่าว
ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลง เอสบี 412 ทาง PTTEP HKO จะเป็นผู้ดำเนินการ (Operator) ด้วยสัดส่วนการลงทุน 60% ที่เหลือเป็นการลงทุนของพันธมิตรจากมาเลเซีย
นอกจากแปลงเอสบี 412 แล้ว ปตท.สผ. ยังมีการลงทุนในประเทศมาเลเซียอีกหลายโครงการ ได้แก่ แปลงเอสเค 405บี, เอสเค 410บี, เอสเค 417, เอสเค 438, เอสเค 314เอ, พีเอ็ม 407 และพีเอ็ม 415 ซึ่งอยู่ในระยะสำรวจ และยังมีแปลงเค, เอสเค 309 และ เอสเค 311 และแหล่งโรตัน-บูลอร์ ในแปลงเอช ซึ่งมีการผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำ มันดิบอยู่ในขณะนี้
ก่อนหน้านี้ ปตท.สผ. เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้ร่วมทุนของโครงการให้เข้าไปเป็นผู้ดำเนินการโครงการยาดานา หลังจาก บริษัท โททาล เอนเนอร์ยี่ส์ ได้ถอนตัวจากการเป็นผู้ดำเนินการ และผู้ร่วมทุนในโครงการ ซึ่งตามเงื่อนไขในสัญญาการร่วมทุน สัดส่วนการร่วมทุนของโททาล เอนเนอร์ยี่ส์ จะกระจายให้กับผู้ร่วมทุนรายอื่นในโครงการตามสัดส่วนการลงทุน โดยไม่คิดมูลค่า ส่งผลให้ บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล มีสัดส่วนการลงทุนเพิ่มเป็น 37.0842% โดยมีบริษัทย่อยของเชฟรอน คือบริษัท ยูโนแคลเมียนมา ออฟชอร์ มีสัดส่วนการลงทุนมากที่สุด ที่ 41.1016%
อย่างไรก็ตาม การเข้าเป็นผู้ดำเนินการจะมีผลในวันที่ 20 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากบริษัท โททาล เอนเนอร์ยี่ส์ ในการเปลี่ยนผ่านการเป็นผู้ดำเนินการในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้การผลิตก๊าซธรรมชาติสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย
สำหรับก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากโครงการยาดานา ในอ่าวเมาะตะมะ มีปริมาณ 770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งประมาณ 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใช้ในเมียนมาเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า (คิดเป็น 50% ของความต้องการใช้ในเมียนมา) ขณะที่ประเทศไทย ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากโครงการยาดานาด้วยเช่นกัน โดยส่งเข้าประเทศราว 550 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และขนาดเล็ก รวม 12 โรง รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าและพลังงานของประชาชนกว่า 11 ล้านคน ในภาคตะวันตก และบางส่วนของภาคกลาง (คิดเป็น 11% ของความต้องการใช้ในไทย)
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP ยืนยันทิ้งท้ายว่า การเข้าเป็นผู้ดำเนินการโครงการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่องของบริษัทฯ จะช่วยรักษาความต่อเนื่องในการจัดหาพลังงานให้มีมากพอจะตอบสนองความต้องการใช้พลังงาน รวมถึงยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาวให้กับประเทศไทยอีกด้วย