590 จำนวนผู้เข้าชม |
นายณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม (ITEL) เปิดเผยผลดำเนินงานปี 2564 ว่า บริษัทฯ มีรายได้รวม 2,509 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อนหน้า (YoY) ที่มีรายได้รวม 2,059 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 251 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% YoY เนื่องจากมีลูกค้าเข้ามาใช้งานด้าน ICT เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งบริษัทฯ สามารถรักษาฐานลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ และต่อยอดความสำเร็จในการขยายบริการเพิ่มเติม อาทิ งาน Drone & Anti-Drone งาน Smart CCTV และอื่น ๆ โดยอาศัยจุดแข็งจากโครงข่ายที่มีประสิทธิภาพ และเสถียรภาพของการให้บริการที่เหนือกว่าคู่แข่งขันรายอื่น ๆ หนุนให้รายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีการเติบโตของรายได้ทุกประเภท
ทั้งนึ้ รายได้จากการให้บริการโครงข่ายอยู่ที่ 1,281 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้น 15% YoY ขณะที่รายได้จากการให้บริการติดตั้งโครงข่าย อยู่ที่ 1,093 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้น 33% YoY ส่วนรายได้จากการให้บริการพื้นที่ดาต้า เซ็นเตอร์ อยู่ที่ 92 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้น 7% YoY เนื่องจากฐานลูกค้าที่ใช้งานมีมากถึง 95%
ที่สำคัญ การที่บริษัทฯ มีลูกค้าเพิ่มขึ้น และสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ และค่าใช้จ่ายในการบริหารได้ดีขึ้น ช่วยหนุนให้อัตรากำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้น10% ตามไปด้วย
สำหรับแผนดำเนินธุรกิจปีนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ที่ 3,200 ล้านบาท และอัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 10% โดยปัจจุบันมีสัญญาในมือ (Contract on Hand) รวมมูลค่ากว่า 3,500 ล้านบาท รับรู้รายได้ในปีนี้ราว 2,400 - 2,500 ล้านบาท ทั้งงานบริการโครงข่ายโทรคมนาคม งานบริการพื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์ และงานติดตั้งโครงข่ายโทรคมนาคม
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ คาดหวังว่าจะได้รับงานใหม่กว่า 3,000 ล้านบาท โดยในไตรมาสแรก น่าจะได้รับงานไม่ต่ำกว่า 1,300 ล้านบาท จากโครงการ Course Online มูลค่า 305 ล้านบาท โครงการ USO-TOT มูลค่า 703 ล้านบาท รวมถึงงานติดตั้งโครงข่ายโทรคมนาคม และงานให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมเพิ่มเติม
นอกจากนี้ บริษัทฯ กำลังเจรจากับผู้ให้บริการคลาวด์ขนาดใหญ่ระดับโลก (Hyperscale) เพื่อชักชวนให้เข้ามาใช้พื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งตามแผนงาน จะมีการเพิ่มขนาดดาต้าเซ็นเตอร์ จาก 0.6 เมกะวัตต์ เป็น 2.4 เมกะวัตต์ ในสิ้นปีนี้ ด้วยงบลงทุน 200 ล้านบาท ก่อนขยายขนาดเป็น 6 เมกะวัตต์ ภายใน 2 ปีข้างหน้า ด้วยงบลงทุนราว 300-400 ล้านบาท
และเพื่อต่อยอดความสำเร็จในการสร้าง New S-Curve ที่เป็นการให้บริการงานด้าน Big Data, Security และ IOT บริษัทฯ พร้อมลงทุนเพิ่มด้วยการซื้อกิจการ (M&A) ใน 2 ธุรกิจ ดีลแรก เป็นบริษัทด้าน IT Outsourcing ที่ชำนาญเรื่อง Digital Transformation, Cyber Security และ Software House ที่มีศักยภาพ อีกดีลเป็นบริษัทด้าน Social Data Analytic ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทำ Due Diligence คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในไตรมาส 2 นี้
ส่วนกลยุทธ์สร้างการเติบโตแบบ Inorganic ในอนาคต ผ่านวิธีการซื้อกิจการ บริษัทฯ เตรียมขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 27 เมษายนที่จะถึงนี้ ให้อนุมัติการออกใบสำคัญแสดงสิทธิรุ่นที่ 4 (ITEL-W4) จำนวนไม่เกิน 322 ล้านใบสำคัญแสดงสิทธิ อายุไถ่ถอน 2 ปี แจกฟรีแก่ผู้ถือหุ้นทุกราย ในอัตราส่วน 5 หุ้นสามัญต่อ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ ที่ราคาใช้สิทธิ 11.50 บาท ตามมา
แนวทางสร้างการเติบโตข้างต้น ได้รับการขานรับจากนักวิเคราะห์อย่างท่วมท้น โดยฟินันเซีย ไซรัส (FSS) บอกว่า ชอบ ITEL ในฐานะที่เป็น Growth stock ประจำปีนี้ เพราะเชื่อว่าจะเห็นพัฒนาการอีกระดับจากความคืบหน้าของ Genesis Data center ที่จะมีการใช้งานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากบริษัทฯ มีความพร้อมที่สุด ทั้งเรื่องพื้นที่พร้อมรองรับลูกค้าได้อีกมาก และเรื่อง Location ที่เหมาะสม ขณะที่การลงทุนในธุรกิจ SI จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้าน Hardware และแผนลงทุนในธุรกิจ Software
นอกจากนั้น นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2559 กำไรของ ITEL เติบโตทุกปี มีสะดุดเพียงปีเดียวคือปี 2563 จากผลกระทบของการ Lockdown และการปิดแคมป์ แม้แต่ปีที่แล้ว กำไรยังเติบโตสร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง คิดเป็นอัตรากำไรเติบโตเฉลี่ย 30.1% CAGR ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากทั้งรายได้ที่เติบโต และการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขาย และการบริหารที่ดี ทำให้คงประมาณการกำไรปีนี้ และปีหน้า ไว้ที่ 336.1 ล้านบาท และ 444.0 ล้านบาท เติบโต 34.0% YoY และ 32.1% YoY ตามลำดับ ส่งผลให้ประเมินราคาเหมาะสมได้ที่ 7.10 บาท อิง P/E 32 เท่า และแนะนำ “ซื้อ”
ขณะที่หยวนต้า (YUANTA) บอกว่า ผลดำเนินงานปีก่อนของบริษัทฯ in-line กับคาดการณ์ และคาดผลดำเนินงานปีนี้จะยังสดใสต่อเนื่อง หนุนจากการเพิ่มขึ้นของงานประมูลทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะงานด้าน IT Infrastructure ที่ทุกองค์กรจำเป็นต้องยกระดับเพื่อให้แข่งขันได้ในยุค Digital Ecnomies หลังประเทศเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จึงคงแนะนำ “ซื้อ” โดยมีราคาเหมาะสมที่ 7.40 บาท (อิง PER 30 เท่า ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 4 ปี ของ ITEL ที่ระดับ +1SD)
ส่วนการที่ราคาหุ้นมีการปรับขึ้นมาก่อนหน้านี้ ทำให้ราคาปัจจุบันซื้อขายบริเวณ PER ที่ 25 เท่า ถือว่าไม่แพง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่ม Digital Transformation สำหรับเชิงกลยุทธ์ ในระยะสั้น ราคาหุ้นแม้จะขึ้นมาต่อเนื่องแต่มีโอกาสยืนได้ไม่ยาก เพราะผลดำเนินงานสดใส ส่วนในระยะยาว ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อ ITEL จากการเป็นผู้เล่นที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการก้าวเข้าสู่ยุค 5G เต็มตัวของประเทศไทยในปีนี้