235 จำนวนผู้เข้าชม |
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (Economic Intelligence Center – EIC) ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค (Consumere Survey) จำนวน 3,205 คน ช่วงระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม ถึง 27 กันยายนที่ผ่านมา เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมในช่วงโควิด และแนวโน้มหลังวิกฤตคลี่คลาย สรุปผลได้เป็น 3 ประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก วิกฤตโควิดส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้บริโภคไทยจำนวนมาก นำไปสู่ 3 ปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงปีที่ผ่านมา ได้แก่ ปัญหารายได้ไม่พอใช้จ่าย ปัญหาภาระชำระหนี้ และปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน โดยปัญหาจะมีความรุนแรงเป็นพิเศษในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
(คนที่มีรายได้เดือนหนึ่งๆ ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท) ขณะที่สัดส่วนของจำนวนคนที่มีปัญหาจะลดน้อยลงในกลุ่มระดับรายได้ที่สูงขึ้น ตอกย้ำให้เห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังคงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างใหญ่ในสังคมไทย
ประเด็นที่สอง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคิดบวก โดยให้ความหวังกับปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึงเร็ววันนี้ว่า จะเห็นการฟื้นตัวของรายได้กลับมาเท่ากับที่เคยได้ในช่วงก่อนโควิด กระนั้น เสียงส่วนใหญ่จะระบุว่าจำเป็นต้องมีความระมัดระวังกับแผนการใช้จ่ายในระยะข้างหน้า โดยผู้บริโภค 72% บอกว่า จะยังคงไม่เพิ่มการใช้จ่ายแม้สถานการณ์จะคลายตัวในทางที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผู้บริโภคราว 43% ที่คิดว่าจะลดค่าใช้จ่ายลงจากปัจจุบันอีกด้วย โดยผู้บริโภคกลุ่มที่เลือกจะรัดเข็มขัดเพิ่มเติมนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีมุมมองว่ารายได้ตนเองจะยังไม่เพิ่มขึ้นในเร็ววัน
สำหรับแนวโน้มการใช้จ่ายหลังสถานการณ์โควิดคลายตัว พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีแนวโน้มกลับไปใช้จ่ายในหมวดที่เกี่ยวกับกิจกรรมนอกบ้าน เช่น การท่องเที่ยวภายในประเทศ และบริการด้านสุขภาพและความงาม โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้มีรายได้สูง (คนที่มีรายได้เดือนหนึ่งๆ มากกว่า 1 แสนบาท) เพราะมีสัดส่วนคนที่พร้อมจะกลับไปใช้จ่ายในหมวดดังกล่าวภายในระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้าสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ คาดว่ามาจากความต้องการที่คงค้างมาจากช่วงปิดเมือง และยังเป็นช่วงเวลาของฤดูกาลท่องเที่ยว สะท้อนให้เห็นว่า การใช้จ่ายสำหรับบริการเหล่านี้ได้ประโยชน์จากแรงส่งของอุปสงค์คงค้าง (pent-up demand)
ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น รถยนต์ บ้าน มีผู้บริโภคเพียงส่วนน้อย แค่ 5-6% เท่านั้น ที่บอกว่า มีแผนจะใช้จ่ายในช่วง 6 เดือนข้างหน้า สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจเรื่องรายได้และความเชื่อมั่นที่ยังมีแนวโน้มซบเซา
ประเด็นที่สาม สถานการณ์โควิดแพร่ระบาด ทำให้ผู้บริโภคไทยมีการเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งด้านการใช้เทคโนโลยี และการใช้เวลาที่บ้านมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรม 2 กลุ่มนี้มีแนวโน้มกลายเป็น New Normal ต่อเนื่อง เนื่องจากต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นการทำงานที่บ้าน และใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้การปรับปรุงและตกแต่งบ้าน และการซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยจากผลสำรวจ พบว่า ผู้บริโภค 41% ระบุว่า มีการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์เพิ่มขึ้นหรือซื้อเป็นครั้งแรกเมื่อเทียบกับช่วงก่อน