1788 จำนวนผู้เข้าชม |
นายบรรณ เกษมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บมจ. เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ (SJWD) เปิดเผยว่า เพื่อเพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจต่างประเทศเป็น 40% ภายในปี 2573 พร้อมกับมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 ทำให้บริษัทฯ กำหนดกลยุทธ์ธุรกิจปี 2568 ด้วยการต่อยอดกลุ่มธุรกิจต่างๆ รวมถึงยกระดับความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจโลจิกสติกส์และซัพพลายเชนเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน นำโดยตลาดเวียดนาม ซึ่งเศรษฐกิจมีศักยภาพการเติบโตสูง และยังได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจจีน เพื่อลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า ด้วยการเน้นให้บริการแบบ End-to-End Supply Chain & Financial Solution แก่ลูกค้าภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ในเครือ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และลูกค้าทั่วไปอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งล่าสุด บริษัทย่อย เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ เวียดนาม ได้ลงนามสัญญารับงานใหม่จากลูกค้า 2 ราย คือ บริษัท เอ.เจ. พลาสท์ เวียดนาม (AJV) ผู้ผลิตแผ่นฟิล์มพลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์ กับบริษัท Vina Kraft Paper (VKPC) ผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ชั้นนำในเวียดนาม มูลค่างานรวมกันกว่า 450 ล้านบาท โดยการลงนามกับ AJV ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ. เอสซีจี เคมิคอลส์ (SGGC) และ บมจ. เอ.เจ.พลาสท์ (AJ) จะมุ่งขยายบริการแบบ End-to-End Supply Chain & Financial Solution เพื่อรองรับการขยายโรงงานเฟส 2 โดยจะให้บริการขนย้ายเครื่องจักรจากโรงงาน AJ ในไทยมายังเวียดนามด้วยการขนส่งทางเรือ รวมถึงให้บริการติดตั้งเครื่องจักร ตลอดจนเป็นผู้บริหารคลังสินค้าในโรงงานเฟส 2 หลังจากติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จและเริ่มการผลิต โดยมี Transimex Corporation พันธมิตรด้านโลจิสติกส์ในเวียดนาม ร่วมให้บริการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรออกจากตู้คอนเทนเนอร์และการขนส่งในเวียดนาม
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนเจรจาเพื่อขยายการให้บริการแก่ AJV ที่มีแผนก่อสร้างคลังสินค้าหลังใหม่ โดยจะเป็นผู้ลงทุนและก่อสร้างคลังสินค้าแห่งใหม่ในรูปแบบ Built-to-Suit ตามความต้องการของลูกค้า เพื่อส่งมอบหรือให้เช่าระยะยาว พร้อมรับบริหารคลังสินค้าและให้บริการโลจิสติกส์ ในระยะต่อไปเพิ่มเติมเข้ามาด้วย
ส่วนการลงนามกับ VKPC ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม ในเครือ บมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) กับกลุ่ม Rengo ของญี่ปุ่น เพื่อขยายระยะเวลาการให้บริการขนส่งกระดาษรีไซเคิลมายังโรงงาน VKPC ออกไป 4 ปี จนถึงปี 2571 และมีแผนจะร่วมมือกันปรับเปลี่ยนการใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าภายในโรงงานและคลังสินค้าของ VKPC เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ควบคู่ไปกับการศึกษาความคุ้มค่าในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ และกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับลูกค้าอีกราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในครึ่งหลังปีนี้ ช่วยสนับสนุนให้รายได้จากตลาดเวียดนามเติบโตได้อย่างโดดเด่น
ด้านนายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม SJWD เสริมว่า นอกเหนือจากตลาดอาเซียน บริษัทฯ จะโฟกัสการขยายธุรกิจในจีนมากขึ้น โดยจะร่วมมือกับ JUSDA ให้บริการคลังสินค้า ขนส่งสินค้าข้ามแดน และบริการนำเข้าและส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอกนิกส์ และเครื่องจักร จากจีนมาไทยและภูมิภาคอาเซียน ที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีก่อน และร่วมมือกับ Ruiyun Logistics ศึกษาโอกาสทางธุรกิจจากการให้บริการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิข้ามแดนระหว่างไทย เวียดนาม และจีน ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตของรายได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องในอนาคต
ขณะเดียวกัน เพื่อต่อยอดการเติบโตจากตลาดในประเทศ บริษัทฯ พร้อมรุกขยายศักยภาพธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็น ด้วยการเปิดให้บริการห้องเย็นใหม่ 4 แห่งในปีนี้ ประเดิมด้วยห้องเย็นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปลายปีก่อน (ขนาดพื้นที่ 2,700 ตารางเมตร) ก่อนจะทยอยเปิดให้บริการห้องเย็นที่จังหวัดสระบุรี เฟส 2 (ขนาดพื้นที่ 3,400 ตารางเมตร) และที่จังหวัดปทุมธานี 2 แห่ง ที่รังสิต (ขนาดพื้นที่ 14,595 ตารางเมตร) และห้องเย็นของบริษัท เอสซีจี นิชิเร เฟส 3 (ขนาดพื้นที่ 17,091 ตารางเมตร) รวมถึงจะขยายบริการคลังสินค้าห้องเย็นสำหรับอุตสาหกรรมยาและเฮลท์แคร์แห่งใหม่แคร์ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการวางแผนเพื่อร่วมลงทุนกับลูกค้า ตลอดจนเตรียมขยายเครือข่ายขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิร่วมกับพันธมิตรเพิ่มเติม
สำหรับธุรกิจรับฝากและบริหารยานยนต์ จะรุกขยายการให้บริการกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า และขยายบริการนำเข้าและส่งออกวัตถุดิบและชิ้นส่วนยานยนต์เต็มตัวมากขึ้น หลังจากสามารถให้บริการรถยนต์เครื่องสันดาปที่ผลิตในประเทศได้สูงกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนรถยนต์ที่ผลิตในประเทศทั้งปี 1.46 ล้านคัน ได้ตั้งแต่ปีก่อน ขณะที่ธุรกิจตัวแทนขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ พร้อมขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันรายได้ให้เติบโตจากที่ทำได้ 1,500 ล้านบาท ในปีก่อน เป็น 2,500 ล้านบาทภายในปี 2572