4431 จำนวนผู้เข้าชม |
บมจ. อิออน ธนสินทรัพย์ ไทยแลนด์ (AEONTS) รายงานผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3 (ก.ย. - พ.ย.) มีกำไรสุทธิ 789 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) สาเหตุหลักจากการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อย อิออน ไมโครไฟแนนซ์ เมียนมาร์ คืนให้กับบริษัทแม่ในญี่ปุ่น (AFS) จำนวน 94 ล้านบาท แต่หากตัดรายการพิเศษออกไป กำไรจากการดำเนินงานจะใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ขานรับความสำเร็จในการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่ และมุ่งเน้นควบคุมคุณภาพหนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลง 9.3% YoY และลดลง 5.0% QoQ ขณะที่พอร์ตสินเชื่อโดยรวมลดลง 4.4% YoY และลดลง 1.8% QoQ เหลือ 8.9 หมื่นล้านบาท หลักๆ มาจากสินเชื่อบัตรเครดิต อย่างไรก็ดี หนี้เสีย (NPL) ยังประคองตัวในระดับ 5.9% แต่หนี้จัดชั้นใน stage 2 ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ ผู้บริหาร AEONTS ยังได้เปิดเผยแผนงานช่วงโค้งสุดท้ายของงบปี 2568 ด้วยว่า ยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเตรียมขาย NPL เพิ่มเติมในงวดไตรมาสสุดท้ายของปี (ธ.ค. - ก.พ.) ราว 170 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลด credit cost ให้ต่ำลง ช่วยผลักดันการเติบโตของกำไรในไตรมาสสุดท้ายให้ดีขึ้นจากไตรมาส 3 ก่อนจะเริ่มขยายพอร์ตสินเชื่อในงบปี 2569 ขานรับแรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท การแจกเงิน 10,000 บาท ให้แก่ผู้สูงอายุที่เข้าเงื่อนไข และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ช่วยลดปัญหาการตกชั้นของลูกหนี้
แผนข้างต้นได้รับการตีความจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ 7 สำนัก ได้แก่ ยูโอบี เคย์เฮียน (UOBKH) ดีบีเอส (DBSTH) กรุงศรี (KSS) อินโนเวสท์ เอ็กซ์ (INVX) ฟิลลิป (PST) เมย์แบงก์ (MST) และทิสโก้ (TSC) ว่า หลังจากชะลอการปล่อยสินเชื่อใหม่ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มเห็นคุณภาพสินทรัพย์มีการฟื้นตัวดีขึ้น และน่าจะดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพียงแต่กำไรไตรมาสสุดท้ายจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างทรงตัว QoQ เนื่องจากการตั้งสำรองที่ลดลง และกําไรจากการขาย NPL ที่มากขึ้น ถูกชดเชยโดยอัตราภาษีที่แท้จริงที่กลับสู่ระดับปกติ แต่จะลดลง YoY อีกทั้งสินเชื่อที่หดลงตัว 1-2% กดดันให้กำไรทั้งปี 2568 ลดลงจากปีก่อนหน้า (ทั้ง 7 ค่ายประเมินกำไรที่ 2.7 - 3.2 พันล้านบาท) ก่อนจะพลิกกลับมาเติบโตในงบการเงินปี 2569 (ทั้ง 7 ค่ายประเมินกำไรที่ 2.9 - 3.5 พันล้านบาท) ตามรายได้สินเชื่อที่คาดจะเติบโตเป็นบวก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป คิดเป็นราคาเหมาะสมที่ 130 – 160 บาท