1659 จำนวนผู้เข้าชม |
นายฉัตรพล ศรีประทุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยผลการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2568 ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 495.11 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิม 371.33 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่ 866.44 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 4,951.12 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นเพิ่มทุน 3,713.34 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมปีที่ผ่านมา ตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) ในสัดส่วน 1 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ที่ราคาเสนอขายหุ้นละ 2.00 บาท กำหนดวันจองซื้อและชำระเงินค่าหุ้นช่าวงระหว่างวันที่ 17 - 23 มกราคมที่จะถึงนี้
และจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 1,237.78 ล้านหุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิครั้งที่ 1 (EA-W1) จัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อและได้รับจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) ในสัดส่วน 3 หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ ต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ โดยไม่คิดมูลค่า กำหนดระยะเวลาการใช้สิทธิ 3 ปี อัตราการใช้สิทธิ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ ต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ และราคาใช้สิทธิหุ้นละ 4 บาท ซึ่งหากมีผู้จองซื้อเต็มจำนวน บริษัทจะระดมทุนได้กว่า 7,400 ล้านบาท สามารถนำเงินไปชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมสถาบันการเงิน พร้อมไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2570 มูลค่ากว่า 6,600 ล้านบาท ได้ตามแผน
พร้อมกันนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการฟื้นฟูธุรกิจภายในกลุ่มบริษัทฯ ตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา ด้วยว่า บริษัทฯ มีธุรกิจที่ทำกำไรจากการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการดำเนินธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่มีผลประกอบการเป็นบวก คิดเป็นสัดส่วนรายได้รวม 60% ของรายได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของธุรกิจเหล่านี้กลับถูกหักล้างจากธุรกิจผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งขาดทุนและดูดซับเงินสดออกไป สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเหล่านี้ ส่งผลให้บริษัทฯ ตัดสินใจหยุดธุรกิจประกอบยานยนต์ไฟฟ้าชั่วคราว และปรับลดขนาดธุรกิจแบตเตอรี่ เพื่อหยุดการไหลออกของเงินสดได้สำเร็จ อีกทั้งเตรียมปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ด้วยการสร้างความร่วมมือกับผู้เล่นขนาดใหญ่ในตลาดโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น สร้างโอกาสขยายตลาดต่างประเทศตามมา
ซึ่งล่าสุด บริษัทฯ ได้มีการลงนามข้อตกลงร่วมลงทุนกับ Chengli Special Automobile หนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์ประเภทพิเศษรายใหญ่สุดของจีนแล้วในเดือนธ้นวาคมปีก่อน เพื่อใช้โรงงานประกอบของบริษัทฯ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ขนาดพื้นที่ 65,000 ตารางเมตร หรือ 80 ไร่ โดยมีกำลังการผลิตสูงสุดปีละ 3,000-9,000 คัน ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของยานยนต์ที่ผลิต คาดว่าจะเริ่มผลิตรถพยาบาล รถขยะ และรถกระเช้า ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป สร้างรายได้ทั้งปีมากกว่า 3 พันล้านบาท เห็นผลชัดเจนในปี 2569
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคาดว่า จะสามารถลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมลงทุนกับหนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับแนวหน้าของจีน ที่มีฐานลูกค้าสำคัญในตลาดอเมริกา และยุโรป ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ เพื่อใช้โรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน บนพื้นที่กว่า 80,000 ตารางเมตร หรือ 91 ไร่ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน โดยมีแผนจะขยายกำลังการผลิตจาก 2 กิกะวัตต์ ในปัจจุบัน เป็น 4 กิกะวัตต์ ในเร็วๆ นี้
ด้านนายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน EA เสริมว่า เงินทุนใหม่ที่ได้รับจากการเพิ่มทุน จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินให้กับบริษัทฯ ทั้งลดหนี้ลงมาเหลือ 5.2 หมื่นล้านบาท และประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยรายปีลงได้ราว 300 ล้านบาท ขณะที่การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรจากจีน จะช่วยเพิ่มโอกาสที่น่าสนใจต่างๆ ในอนาคตได้ เมื่อธุรกิจเริ่มกลับเข้าสู่โหมดฟื้นตัว
สำหรับฐานะทางการเงินล่าสุด ช่วง 9 เดือนปีที่แล้ว EA มีกระแสเงินสดเป็นบวก 5,610 ล้านบาท พลิกจากที่ติดลบ 1,726 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนปีก่อนหน้า ขณะที่มีกำไรสุทธิ 1,852 ล้านบาท และมีกำไรที่เป็นเงินสด (EBITDA) อยู่ที่ 6,183 ล้านบาท