4944 จำนวนผู้เข้าชม |
ต้องยอมรับว่า ปี 2567 นี้ เป็นปีชงของ บมจ. บางกอกเชน ฮอลปิทอล (BCH) เพราะราคาหุ้นตลอด 11 เดือนมีการปรับฐานอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยยืนเหนือ 23 บาท ช่วงต้นปี ไหลลงมาทำจุดต่ำสุดของปีที่ 14.80 บาท ในกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนฟื้นตัวขึ้นมายืนที่ 16.50 บาท ช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สาเหตุจากพื้นฐานธุรกิจถูกกดดันจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ การที่ฐานลูกค้าต่างชาติหดตัว ผลจากการที่รัฐบาลคูเวตหยุดสนับสนุนการรักษาพยาบาลนอกประเทศ ต่อเนื่องด้วยการที่สำนักงานประกันสังคมมีการปรับลดอัตราการจ่ายค่ารักษาโรคซับซ้อนที่มีค่าใช้จ่ายสูง (RW>2) จากที่ตั้งไว้ในอัตรา 12,000 บาท ต่อ RW เป็น 7,200 บาท ต่อ RW ทำให้บริษัทฯ ต้องกลับรายการรายได้ค่าบริการใน 2 เดือนสุดท้ายของปี 2566 ลงในงบการเงินงวดไตรมาส 2 ปีนี้ พร้อมกับสร้างความไม่แน่นอนเรื่องอัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาลโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง (RW>2) ที่อาจส่งผลกระทบต่อผลดำเนินงานงวดครึ่งหลังปี 2567 นี้ตามมา
อย่างไรก็ตาม วิบากกรรมที่เกิดขึ้นหุ้น กำลังจะค่อยๆ คลายตัวลงไป ในปี 2568 ที่กำลังจะมาถึงนี้ เมื่อการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ครั้งล่าสุด ศ. ดร. นพ. เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BCH ออกโรงชี้แจงว่า ที่ประชุมองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงสำนักงานประกันสังคม พร้อมการันตีอัตราการจ่ายค่ารักษาโรคซับซ้อนที่มีค่าใช้จ่ายสูง (RW>2) ในอัตรา 12,000 บาท ต่อ RW สำหรับงบประมาณปี 2568 เนื่องจากงบประมาณของปี 2567 ไม่น่าจะเพียงพอ และตามหลักการไม่สามารถจะแก้ไขรายละเอียดงบรายปีได้ บ่งชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ความไม่แน่นอนของเรื่องอัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาลโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง (RW>2) น่าจะคลายตัวแล้ว โดยคาดว่าจะมีมติอย่างเป็นทางการหลังการประชุมวันที่ 3 ธ.ค. ก่อนถึงกำหนดที่โรงพยาบาลเอกชนจะต้องเซ็นสัญญาสำหรับการให้บริการประกันสังคม ในปี 2568
สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น บริษัทฯ ได้ตัดสินใจบันทึกรายได้จากบริการประกันสังคมในส่วนของค่ารักษาโรคซับซ้อนที่มีค่าใช้จ่ายสูง (RW>2) ในอัตรา 7,200 บาท ต่อ RW ในงบการเงินงวดไตรมาสสุดท้ายไว้แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้รายได้และกำไรลดลงทั้งเมื่อเทียบรายปี (YoY) และเทียบรายไตรมาส (QoQ) และไม่ต้องกลับรายการในปี 2568 อีก
ส่วนการที่รัฐบาลคูเวตหยุดสนับสนุนการรักษาพยาบาลนอกประเทศ มีแนวโน้มคลายตัวตั้งแต่ต้นปี 2568 เมื่อรัฐบาลคูเวตพร้อมอนุญาตให้มีการส่งตัวผู้ป่วยมารับการรักษาในไทยตามเดิม แต่มีการปรับแนวนโยบายจากเดิมที่ส่งตัวรักษาทุกโรค มาเป็นเฉพาะโรครุนแรง ซึ่งบริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการรักษาโรคซับซ้อนรุนแรงอยู่แล้ว อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา ทางรัฐบาลคูเวตได้มีการตรวจสอบ และติดต่อเข้ามาเพื่อขอรายละเอียดเรื่องอัตราค่าบริการแล้ว ทำให้เชื่อมั่นว่า BCH จะได้รับเลือกเป็น 1 ใน 3 โรงพยาบาลเป้าหมายของรัฐบาลคูเวต สนับสนุนให้สัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติปีหน้าเพิ่มจาก 18% ในปีนี้ เป็นกว่า 20%
การปลดล๊อคทั้งลูกค้าคูเวต และอัตราการจ่ายค่ารักษาโรคซับซ้อนที่มีค่าใช้จ่ายสูง (RW>2) สำหรับการให้บริการประกันสังคม ส่งผลให้นักวิเคราะห์ 5 สำนัก ได้แก่ อินโนเวสท์ เอกซ์ (INVX) โกลเบล็ก (GBS) กสิกรไทย (KS) และกรุงศรี (KSS) เอเซีย พลัส (ASPS) มองบวกต่อความสามารถทำกำไรของ BCH ในปี 2568 ว่า อาจเติบโตเป็นเลข 2 หลัก สวนทางราคาหุ้นทั้ง 11 เดือน ที่อ่อนตัวลงมา 27% โดยปัจจุบันซื้อขายที่ P/E ปี 2568 ระดับ 22 เท่า ใกล้กับระดับ -2SD ของค่าเฉลี่ยในอดีต ถือได้ว่าสะท้อนข่าวลบไปแล้ว จึงน่าสนใจในการเข้าซื้อสะสม
ทั้งนี้ INVX คาดว่า BCH จะรายงานกำไรปกติเติบโตแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มการแพทย์ที่ 19% YoY หนุนจาก 4 ปัจจัย ปัจจัยแรก การขยาย ปรับปรุงโรงพยาบาล รวมถึงการยกระดับโรงพยาบาลการุญเวช ปทุมธานี เป็นโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปทุมธานี ในไตรมาสแรกปี 2568 ปัจจัยที่สอง การเพิ่มบริการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์มะเร็งรังสีรักษา เกษมราษฎร์อารี (BCH ถือหุ้น 51%) หรือบริการทันตกรรมเคลื่อนที่ (BCH ถือหุ้น 60%) ในไตรมาส 3 ปี 2567 นี้ ปัจจัยที่สาม การดำเนินงานที่เติบโตมากขึ้น หนุนจาก 3 โรงพยาบาลใหม่ ได้แก่ เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อรัญประเทศ เกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี กับเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ และปัจจัยสุดท้าย ฐานรายได้จากการให้บริการผู้ป่วยชาวคูเวตที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้น หลังจากลดลงในปี 2567 คิดเป็นมูลค่าเหมาะสมที่ 21.50 บาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ของ Bloomberg Consensus ซี่งประเมินไว้ที่ 21 บาท
ขณะที่ KSS และ ASPS แนะรอความชัดเจนของจำนวนผู้ป่วยชาวคูเวต เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนอีกครั้ง เพราะยังมีความไม่แน่นอนว่าจะใกล้เคียงกับช่วงปกติมากน้อยเพียงไร แต่เบื้องต้นให้มูลค่าเหมาะสมที่ 20-21 บาท ใกล้เคียงกับ KS ที่ประเมินมูลค่าหุ้นที่ 20.60 บาท