IVF เคาะราคา IPO ที่ 3.10 บาท เปิดจอง 29 พ.ย.- 3 ธ.ค. นี้

5243 จำนวนผู้เข้าชม  | 

IVF เคาะราคา IPO ที่ 3.10 บาท เปิดจอง 29 พ.ย.- 3 ธ.ค. นี้



นายวรชาติ ทวยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่  (Finnex) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ. อินสไปร์ ไอวีเอฟ (IVF) ผู้ให้บริการด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก ครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษา การวางแผนการรักษา และการเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ของคู่สมรส เปิดเผยว่า พร้อมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 130 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 29.55% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 3.10 บาท จากราคาพาร์หุ้นละ 0.50 บาท ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคมนี้ ผ่าน บมจ. หลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด (KINGSFORD) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่าย แต่ไม่รับประกันการจัดจำหน่าย พร้อมด้วยผู้ร่วมจัดจำหน่าย แต่ไม่รับประกันการจัดจำหน่าย อีก 6 ราย ได้แก่ บมจ. หลักทรัพย์ ดาโอ ประเทศไทย (DAOL) บมจ. หลักทรัพย์ บียอนด์ (BYD) บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ (LIB) บริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล (ASL)  บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง (KTX)  และ บมจ. หลักทรัพย์ ไอร่า (AIRA) คาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) ในวันที่ 11 ธันวาคมนี้

ด้านนายชานนทร์ ปินสุนทร ผอ. อาวุโส ฝ่ายวาณิชธนกิจ KINGSFORD แกนนำการจัดจำหน่าย แต่ไม่รับประกันการจัดจำหน่าย ชี้แจงว่า การตั้งราคา IPO ที่ 3.10 บาท ใช้วิธีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) โดยพิจารณาจากกำไรสุทธิย้อนหลัง 4 ไตรมาสล่าสุด ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ถึงไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งอยู่ที่ 44.93 เท่า ถือได้ว่าสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งในฐานะศูนย์รวมความเชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยากรายแรกและรายเดียวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น EmbryoScope plus ตู้เลี้ยงตัวอ่อนที่สามารถติดตามการเจริญเติบโตของตัวอ่อนได้แบบเรียลไทม์ พร้อมประเมินคุณภาพตัวอ่อนด้วยเทคโนโลยีเอไอ (AI) LensHooke เครื่องตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำเชื้อ ที่ครอบคลุมความเข้มข้น การเคลื่อนไหว รูปร่าง รวมถึงโอกาสการติดเชื้อ หรือการใช้เทคนิค PGT-A/-SR SNP Array ของ illumina ตรวจวินิจฉัยโครโมโซมของตัวอ่อน ช่วยคัดกรองโรคทางพันธุกรรมได้อย่างแม่นยำ เข้ามาประยุกต์ใช้ร่วมกับความชำนาญของทีมแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และพนักงานที่พร้อมส่งมอบการให้บริการอย่างประทับใจ ภายใต้การรับรองมาตรฐานระดับโลกจากทั้ง AACI, Global Healthcare Accreditation, TEMOS International Healthcare Accreditation ISO9001 เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ ลดระยะเวลาในการรักษา และเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ป่วย จนทำให้มีสัดส่วนลูกค้าเป็นชาวต่างชาติกว่า 80% โดยเฉพาะชาวอินเดีย และจีน ส่งผลให้ผลดำเนินงานช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตก้าวกระโดด โดยมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) และอัตราผลตอบแทนต่อทรัพย์สิน (ROA) สูงระดับ 35.1% และ 19.9% ตามลำดับ รวมถึงศักยภาพการเติบโตที่โดดเด่นในอนาคต จากการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ขยายธุรกิจ เข้าข่ายหุ้นเติบโต (Growth Stock)  






ขณะที่นางสาวเกศิณี กุลดิลก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IVF เสริมว่า บริษัทฯ มีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุน หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว 388 ล้านบาท ไปใช้ขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ ราว 190 ล้านบาท และลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อย่างการให้บริการดูแลสุขภาพ (Wellness) รวม 114 ล้านบาท ที่เหลือ 84 ล้านบาท ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการทำธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะกลางถึงยาว เสริมจากโมเดลธุรกิจที่เป็นจุดเด่นของบริษัทฯ ทั้งการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มวิธีการรักษาผู้มีบุตรยากที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ของคู่สมรส พร้อมการให้บริการที่มีคุณภาพ คุ้มค่า ครบวงจรด้วยมาตรฐานสากล สร้างการจดจำแบรนด์ Inspire IVF และการสร้างความคุ้มค่าทางธุรกิจ ผ่านกลยุทธ์ Asset-light อย่างการร่วมลงทุนกับพันธมิตร ทั้งในอุตสาหกรรมเดียวกันและภายนอก ช่วยผลักดันธุรกิจให้เติบโตอย่างโดดเด่น ดูได้จากผลดำเนินงานช่วง 3 ปีล่าสุด (ปี 2564-66) ที่มีการเติบโตของรายได้และกำไรหลายเท่าตัว จากที่ขาดทุนสุทธิ 5.15 ล้านบาท พลิกมามีกำไร 10.06 ล้านบาท และ 40.98 ล้านบาท ตามรายได้จากการให้บริการที่ขยายตัวจาก 11.24 ล้านบาท เป็น 63.31 ล้านบาท และ 121.55 ล้านบาท ตามลำดับ   

อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เกิดจากการเตรียมตัวเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai เพิ่มเติมเข้ามาในปีนี้ ทำให้ผลดำเนินงานงวด 9 เดือนปีนี้ อ่อนแอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกำไรสุทธิลดลงจากช่วง 9 เดือนปีก่อนที่ทำได้ 27.35 ล้านบาท ลงมาที่ 16.72 ล้านบาท เช่นเดียวกับรายได้จากการให้บริการที่ลดลง 3.1% มาอยู่ที่ 84.95 ล้านบาท ทั้งจากธุรกิจรักษาผู้มีบุตรยาก ที่มีสัดส่วนรายได้สูงกว่า 90% และธุรกิจเวชศาสตร์ฟื้นฟูฯ สำหรับบุคลทั่วไป ซึ่งเริ่มต้นในปีก่อน และมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 7-8%




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้