28 จำนวนผู้เข้าชม |
บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) ธุรกิจโฮลดิ้ง ที่เน้นลงทุนด้านผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรายงานผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปีนี้ มีกำไรสุทธิ 67.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 121.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) แต่ลดลง 21.5% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สาเหตุจากกลุ่มโรงไฟฟ้าชีวมวลสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยควบคุมต้นทุนการผลิตได้ดีขึ้น หนุนให้สามารถจําหน่ายไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ถูกบั่นทอนจากการหยุดเดินเครื่องประจําปี และการมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมกลุ่มโรงไฟฟ้าขยะ ฉุดให้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าลดลง กระนั้น เมื่อคิดรวมผลดำเนินงานงวด 9 เดือนของปี บริษัทฯ กลับทำกำไรสุทธิได้เพิ่มขึ้น 49.8% มาอยู่ที่ 254.15 ล้านบาท ทั้งที่รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าลดลง 19.8% YoY มาอยู่ที่ 1,787.90 ล้านบาท สาเหตุจากมีการจําหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อยเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน
โอกาสนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติจ่ายปันผลระหว่างกาลเป็นเงินสดให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.128 บาท กำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (วันขึ้น XD) 19 พฤศจิกายนนี้ ก่อนจ่ายปันผลในวันที่ 4 ธันวาคม
พร้อมกันนี้ นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร TPCH ชี้แจงถึงความคืบหน้าในการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ด้วยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 2 โครงการในประเทศ ภายใต้บริษัทสยามพาวเวอร์ (SP) ที่หนองสาหร่าย (SPNS) และนากลาง (SPNK) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งแห่งละ 9.9 เมกะวัตต์ (MW) พร้อมติดตั้งเครื่องจักรภายในไตรมาสแรกปีหน้า และมีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เพิ่มอีก 4 โครงการ ได้แก่ SP4-SP7 ตามมา
สำหรับการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศ การพัฒนาโครงการในกัมพูชา ซึ่งตั้งเป้าจำหน่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประมาณ 180-200 MW และโรงไฟฟ้าพลังงานลม ประมาณ 50-100 MW ยังอยู่ในระหว่างการขอใบอนุญาต ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ใน สปป. ลาว กำลังการผลิต 100 MW ที่เข้าร่วมลงทุนกับบริษัท แม่โขง พาวเวอร์ (MKP) ในสัดส่วน 40% มูลค่า 12.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมเริ่มก่อสร้างในไตรมาสแรกปีหน้าเช่นกัน เพื่อให้พร้อมจำหน่ายไฟฟ้า ใน สปป. ลาว และส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปจำหน่ายในเวียดนาม ให้ได้ภายในปี 2569 ซึ่ง TPCH ตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตรวมเพิ่มเป็น 500 MW เทียบกับกำลังการผลิตปัจจุบันที่มี 110 MW แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 80.7 MW และโรงไฟฟ้าขยะ 29.3 MW