TATG เคาะราคา IPO ที่ 1.25 บาท เปิดจอง 30 ก.ย.- 2 ต.ค. ก่อนซื้อขายวันแรก 8 ต.ค.

4871 จำนวนผู้เข้าชม  | 

TATG เคาะราคา IPO ที่ 1.25 บาท เปิดจอง 30 ก.ย.- 2 ต.ค. ก่อนซื้อขายวันแรก 8 ต.ค.


นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทที่ปรึกษา เอเซีย พลัส (ASP Advisory) ที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ. ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย (TATG) เปิดเผยว่า พร้อมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 100 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 25% ของจํานวนหุ้นที่ออกและเรียกชําระแล้วทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 1.25 บาท จากราคาพาร์หุ้นละ 1.00 บาท ระหว่างวันที่ 30 กันยายน ถึง 2 ตุลาคมนี้ ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (ASPS) และบริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก (GBS) คาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) วันที่ 8 ตุลาคมที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ การตั้งราคา IPO ที่ 1.25 บาท พิจารณาจากกำไรสุทธิย้อนหลัง 4 ไตรมาสล่าสุด ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีที่แล้ว ถึงไตรมาส 2 ปีนี้ คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) ที่ 5.2 เท่า ซึ่งถือว่าเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน และศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจในระยะยาว เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมแม่พิมพ์โลหะ กับอุปกรณ์จับยึด และชิ้นส่วนยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน โดยอาศัยจุดแข็งจากการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมแม่พิมพ์โลหะ (Dies) อุปกรณ์จับยึดเพื่อการตรวจสอบ (Checking Fixtures) อุปกรณ์จับยึดเพื่อการประกอบ (Assembly Jigs) และผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ (Press Parts) รายใหญ่ของไทย ที่มีโรงงานผลิต 4 แห่ง ในจังหวัดปทุมธานี กับจังหวัดชลบุรี

ด้าน ดร. พยุง ศักดาสาวิตร ประธานกรรมการบริหาร TATG เสริมว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน จากการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนหลังหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 115.8 ล้านบาท ไปใช้ลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม ราว 40 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งระบบที่ควบคุมด้วยคน และระบบอัตโนมัติ เพิ่มความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยต้นทุนการผลิตที่ลดลง อีกทั้งยังเพิ่มความหลากหลายในการผลิตได้ ทั้งการผลิตในปริมาณมาก และการผลิตที่เน้นความพิถีพิถันสูง รวมถึงการเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ครบวงจรมากขึ้น

 

 

 


สำหรับเงินทุนที่เหลือ จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการวิจัยและพัฒนางานด้านการออกแบบและผลิตเครื่องมือ ของกลุ่มบริษัทฯ เพื่อสร้างโอกาสเติบโตไปกับเมกะเทรนด์ของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ประมาณ 45.8 ล้านบาท และคืนหนี้สถาบันการเงิน อีก 30 ล้านบาท เพิ่มความเข้มแข็งทางการเงินให้กับกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถรักษาความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมแม่พิมพ์โลหะ กับอุปกรณ์จับยึด และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย ที่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

พิสูจน์ได้จากผลดำเนินงาน 3 ปีล่าสุด (ปี 2564-66) ที่มีการเติบโตของรายได้ติดต่อกันทุกปี จาก 2,547.60 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2,922.47 ล้านบาท และ 3,002.91 ล้านบาท ตามลำดับ ในจำนวนนี้เป็นสัญญาที่ทำกับลูกค้าในสัดส่วนสูงกว่า 99% หลักๆ มาจากรายได้จากการขายชิ้นส่วนยานยนต์กว่า 90% เนื่องจากรายได้จากการให้บริการออกแบบและผลิตแม่พิมพ์โลหะ กับอุปกรณ์จับยึด ปรับลดลงทุกปี จากผลกระทบของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่หลายรายยังไม่มีการออกแบบโมเดลรถยนต์รุ่นใหม่  

อย่างไรก็ตาม รายได้จากการให้บริการออกแบบและผลิตแม่พิมพ์โลหะ กับอุปกรณ์จับยึด เริ่มมีทิศทางที่สดใสขึ้นในครึ่งแรกปีนี้ จากการที่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เตรียมเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ทำให้กลุ่มบริษัทฯ ทยอยได้งานเพิ่มขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปีก่อน สวนทางรายได้จากการขายชิ้นส่วนยานยนต์ที่ปรับลดลง ตามภาวะซบเซาของตลาดรถยนต์ในประเทศ ส่งผลให้รายได้รวมชะลอตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 8.65% มาอยู่ที่ 1,340.11 ล้านบาท  

 

 


 

สำหรับกำไรสุทธิ ได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น กดดันให้ชะลอตัวลงตามลำดับ จาก 164.55 ล้านบาท ในปี 2564 เหลือ 108.16 ล้านบาท และ 47.87 ล้านบาท ในปี 2565 และปี 2566 ตามลำดับ

ขณะที่ครึ่งแรกปีนี้ สามารถพลิกจากขาดทุนสุทธิ 2.97 ล้านบาท ในครึ่งแรกปีก่อน มาเป็นกำไรสุทธิ 45.87 ล้านบาท สาเหตุหลักจากในครึ่งแรกปีก่อนมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ทั้งจากการเพิ่มบุคลากรเพื่อรับการขยายตัวของธุรกิจ และค่าใช้จ่ายในการเตรียมความพร้อมในการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai

ที่สำคัญ การจับจังหวะเข้าระดมทุนช่วงนี้ ถือว่า มีความเหมาะสมกับการที่อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี และกำลังจะกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง และการเตรียมตัวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า สร้างโอกาสในการขยายธุรกิจ ผลักดันรายได้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต

 

 


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้