BAY กำไรไตรมาสสองตามคาด 8.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% QoQ แต่ลด 3% YoY เหตุคุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอ

1748 จำนวนผู้เข้าชม  | 

BAY กำไรไตรมาสสองตามคาด 8.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% QoQ แต่ลด 3% YoY เหตุคุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอ


บมจ. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) รายงานผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2 ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 8.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากไตรมาสแรก (QoQ) แต่ลดลง 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) สอดคล้องกับที่ตลาดคาดไว้ โดยการเติบโตเชิง QoQ หนุนจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 4% และกําไรจากการดําเนินงานที่เพิ่มขึ้น รับส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่สูงขึ้น QoQ จากอัตราผลตอบแทนสินเชื่อที่สูงขึ้น ส่วนสาเหตุที่ลดลง YoY เกิดจากค่าใช้จ่ายสํารองหนี้สูญ (credit cost) ที่เพิ่มขึ้น 79 bps

อย่างไรก็ตาม ผลดำเนินงานงวดครึ่งปีแรก มีกำไรสุทธิ 1.575 หมื่นล้านบาท ลดลง 7.9% YoY ปัจจัยหลักจากการเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ตามการตั้งสำรองอย่างระมัดระวัง ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานที่เติบโต 26% หนุนจากการรับรู้รายได้เต็มจำนวนของบริษัทลูกในภูมิภาคอาเซียนที่ได้ควบรวมกิจการมาในปีก่อน และกำไรจากการดำเนินงานในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทั้งที่เงินให้สินเชื่อรวมลดลง 1.3% คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.52 หมื่นล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคมปีก่อน สาเหตุจากการควบคุมสินเชื่อเพื่อรายย่อยที่เข้มงวดขึ้น กดดันสินเชื่อลดลง 3.5% สวนทางสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่ยังเติบโตได้ 0.8% ตามความต้องการเงินทุนหมุนเวียนของภาคธุรกิจในช่วงครึ่งแรกของปี ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เร่งตัวจาก 3.52% YoY ขึ้นมาเป็น 4.31% โดยมีปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากการควบรวมธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศในปี 2566 แม้ต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้นก็ตาม

สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 26.6% YoY คิดเป็นมูลค่า 4.70 พันล้านบาท หนุนจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากการควบรวมธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศ การเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายประกันภายในประเทศ การเพิ่มขึ้นของหนี้สูญรับคืน และกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน 

ส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิด อยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% YoY เพื่อรองรับความผันผวนที่อาจ กระทบต่อคุณภาพสินเชื่อในอนาคตทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่หนี้เสีย (NPLs) เพิ่มจาก 2.69% ในไตรมาสแรก เป็น 3.05% ส่งผลให้สัดส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Coverage ratio) ลดลงจาก 141.5% ลงมาเหลือ 128.8% และทำให้สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 243 bps  

สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ลดลงจากสิ้นปีก่อนที่ 18.24% มาอยู่ที่ 17.87% ในจำนวนนี้เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ที่ระดับ 13.75% และ 4.12% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด  

โอกาสนี้ นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAY ยืนยันแผนดำเนินธุรกิจช่วงครึ่งปีหลังว่า พร้อมเดินหน้าสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและธุรกิจที่คาดว่าจะเร่งตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง แต่จะยังคงให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพหนี้อย่างต่อเนื่อง   

 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้