หุ้นกลุ่มธนาคารปีนี้ไร้เสน่ห์ ลงทุนต้องเน้นเรื่องปันผล ชู TTB ตัวเลือกแรก

6540 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หุ้นกลุ่มธนาคารปีนี้ไร้เสน่ห์ ลงทุนต้องเน้นเรื่องปันผล ชู TTB ตัวเลือกแรก


หลังจากธนาคาร 8 แห่ง (BAY, BBL, KBANK, KKP, KTB, SCB, TTB, TISCO) รายงานผลดำเนินงานไตรมาสแรก โชว์กำไรสุทธิตามคาดที่ 62.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น 24.3% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ตามคาด โดยกำไรเติบโต YoY หนุนจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ขยายตัวตามการขยายสินเชื่อ และส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กำไรเติบโต QoQ เนื่องจากมีการตั้งสำรองหนี้ฯ ลดลง เพราะธนาคารหลายแห่งตั้งสำรองหนี้ฯ เพิ่มในไตรมาสสุดท้ายปีก่อนเพื่อรับความผันผวนในอนาคต ประกอบกับมีผลกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมเพิ่มขึ้น และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง

โดยธนาคารขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น BBL KBANK KTB SCB หรือ TTB ต่างมีกำไรสุทธิเติบโตทั้ง YoY และ QoQ แต่ KBANK โดดเด่นสุด ขณะที่กำไรสุทธิของ TISCO ลดลง YoY และ QoQ เพราะ NIM ปรับลดลง และสำรองหนี้ฯ สูงขึ้น ส่วน KKP กำไรฟื้นตัว QoQ แต่ปรับลดลง YoY เพราะขาดทุนจากการขายรถยึดสูงขึ้น อีกทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิลดลง สวนทางค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้น

สําหรับภาพระยะสั้นในไตรมาส 2 อินโนเวสท์ เอกซ์ (INVX) ซึ่งวิเคราะห์หุ้นธนาคาร 8 ราย คาดว่ากําไรโดยรวมจะทรงตัว YoY แต่ลดลงเล็กน้อย QoQ ผลจาก NIM ที่แคบลงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลง 25 bps สําหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ขณะที่ธนาคารส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ทำให้สินเชื่อหดตัวติดต่อกันใน 2 เดือนแรก โดย BAY มีการชะลอตัวของสินเชื่อมากที่สุด ถึง 2% MoM ตามมาด้วย KTB ที่สินเชื่อหดตัว 1.2% MoM ส่วนหนึ่งเกิดจากธุรกิจขนาดใหญ่และหน่วยงานภาครัฐมีการชำระคืนหนี้สูง ในทางกลับกัน SCB เป็นธนาคารที่มีการเติบโตของสินเชื่อสูงสุดที่ 0.6% MoM

ด้านฟินันเซีย ไซรัส (FSS) ที่ไม่ได้วิเคราะห์หุ้น BAY ประเมินว่า ธนาคาร 7 แห่งที่ทำการศึกษาจะรายงานกำไรสุทธิลดลง 3.2% QoQ แต่เพิ่มขึ้น 2.1% YoY มาอยู่ที่ 53.2 พันล้านบาท โดยทุกธนาคารจะมีกำไรสุทธิลดลง QoQ ยกเว้น TTB ที่น่าจะมีผลประกอบการดีที่สุด และ TISCO ที่น่าจะเพิ่มเล็กน้อย ขณะที่ SCB น่าจะแย่ที่สุด แต่หากเทียบ YoY เชื่อว่า BBL, SCB, และ TISCO จะรายงานกำไรสุทธิลดลง ส่วน TTB, KBANK, KTB และ KKP รายงานกำไรเติบโต  และ SCB น่าจะแย่ที่สุด

สำหรับภาพรวมทั้งปี แม้อัตราการเติบโตของกำไรหุ้นกลุ่มธนาคารมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงในปีนี้และปีหน้า อีกทั้งยังมีความท้าทายจากคุณภาพสินเชื่อที่เปราะบาง แต่พื้นฐานของธนาคารที่ยังคงแข็งแกร่ง อัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูง และ Valuation ไม่แพง โดยราคาซื้อขายต่ำกว่า P/BV เฉลี่ย 10 ปี หรือเทียบเท่า -1.0 SD จากค่าเฉลี่ย ทำให้สามารถคาดหวังผลตอบแทนในรูปเงินปันผลที่น่าสนใจ โดยทยอยซื้อสะสม เพื่อรอดูสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมในครึ่งปีหลังให้ชัดเจนก่อน

INVX คาดว่ากําไรหุ้นกลุ่มธนาคารทั้งปีจะเติบโต 5% หนุนจากสินเชื่อที่ขยายตัว 3% อัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ค่อนข้างทรงตัว เมื่อตั้งสมมติฐานว่าไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ส่งผลให้ NIM ของธนาคารใหญ่เพิ่มขึ้น 3-8 bps สวนทางธนาคารเล็ก อย่าง TISCO และ KKP ลดลง 5-8 bps ขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อลูกหนี้รวม (Credit Cost) ลดลงเล็กน้อย ขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (NII) คงที่ และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ในระดับทรงตัว จึงเลือก BBL (ราคาเหมาะสม 180 บาท) และ KTB (ราคาเหมาะสม 22 บาท) เป็นหุ้นเด่นของกลุ่ม เนื่องจาก valuation น่าสนใจที่สุด และมีความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ต่ำที่สุด

ขณะที่ฟิลลิป (PLS) และพาย (Pi) ยกให้ TTB เป็นหุ้นเด่น รองลงไปเป็น KBANK ที่ได้ประโยชน์จากการออกมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ SME มากที่สุด ในฐานะผู้นำตลาดสินเชื่อ SME เหมือนกัน โดย PI ให้ราคาเหมาะสมของ TTB ที่ 1.98 บาท และ KBANK ที่ 152 บาท ส่วน PLS ประเมินมูลค่า TTB ที่ 2 บาท และ KBANK ที่ 144 บาท    

ด้านกสิกรไทย (KS) ปรับลดประมาณการกําไรสุทธิปีนี้และปีหน้าหุ้นกลุ่มธนาคารลง 1.6% และ 2.4% เป็น 1.87 แสนล้านบาท และ 1.96 แสนล้านบาท ตามลำดับ เพื่อให้สะท้อนอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่สูงขึ้น NIM ที่ลดลง จากอัตราผลตอบแทนสินเชื่อที่ลดลง ขณะที่ Credit Cost เพิ่มขึ้น 5-10% จากคุณภาพสินเชื่อที่อ่อนแอกว่าคาด อีกทั้ง NII ลดลงเล็กน้อย ส่งผลให้ธนาคารต่างๆ มีกําไรเติบโตติดลบ ยกเว้น KTB TTB และ KKP ที่คาดกำไรเติบโตเด่นสุด ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณาประกอบเข้ากับมูลค่าหุ้น เลือก KKP (ราคาเหมาะสม 56.50 บาท) และ TTB (ราคาเหมาะสม 1.88 บาท) เป็น Top pick กลุ่ม





อย่างไรก็ดี ค่ายสีเขียวรายนี้ ชี้ประเด็นด้วยว่า หุ้นกลุ่มธนาคารไทยในระยะสั้นยังขาดปัจจัยกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ เพราะเมื่อเปรียบเทียบความน่าสนใจในการลงทุน โดยวัดจาก P/BV เทียบกับอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) จะพบว่า หุ้นกลุ่มธนาคารไทยยังมีราคาแพงกว่าหุ้นในภูมิภาค

เช่นเดียวกับทิสโก้ (TSC) ที่มองว่าราคาหุ้นกลุ่มธนาคารอาจจะยังฟื้นตัวได้ไม่ มากนักในปีนี้ เพราะยังคงเห็นความอ่อนแอของ NIM และแรงกดดันเรื่องคุณภาพหนี้ที่ยังคงมีอยู่ ดังนั้น การลงทุนจะต้องเน้นไปที่ธนาคารที่ให้ปันผลสูง อย่าง TTB (มูลค่าเหมาะสม 2.50 บาท) ซึ่งกำไรดีจากสิทธิประโยชน์ด้ านภาษี ทำให้จ่ายปันผลได้เยอะขึ้ นในอนาคต) และ SCB (มูลค่าเหมาะสม 122 บาท) ที่คาดปันผลระดับ 10 บาทยังเป็นไปได้

ขณะที่ FSS เลือก TTB (ราคาเหมาะสม 2.19 บาท) เป็นหุ้นเด่น จาก Downside risk ของกำไรที่มีจำกัด เพราะธนาคารยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเหลืออยู่อีก 14.1 พันล้านบาท ทำให้คาดหวังเงินปันผลในอัตรา 5-6% ตามมาด้วย KTB (ราคาเหมาะสม 19.90 บาท) และ KBANK (ราคาเหมาะสม 140 บาท) จากความกังวลด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลง และปันผลในระดับ 5-6% พร้อมเลือก SCB (ราคาเหมาะสม 120 บาท) จากเงินปันผลที่คาดจะโดดเด่นถึง 10-11% อิงสมมติฐานอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 80%

 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้