1214 จำนวนผู้เข้าชม |
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์ "การใช้หญ้าแฝก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ครั้งที่ 12 (ประจำปี 2563–65) ภายใต้แนวคิด "รักษ์น้ำ ป่า ดิน ด้วยแฝกองค์ภูมินทร์ ฟื้นถิ่น ยั่งยืน" เพื่อส่งเสริมการขยายผลการปลูกหญ้าแฝกให้เป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างยั่งยืน
การจัดการประกวดครั้งนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานโล่รางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวด ส่วนผู้ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ และรางวัลชมเชย จะได้รับโล่พร้อมรับเกียรติบัตรจากองค์กรร่วมจัด โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 58 ผลงาน ซึ่งแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ประเภทผลงาน
ประเภทแรก เป็นการส่งเสริมการปลูกและขยายผล จำนวน 38 ผลงาน แบ่งออกเป็น พื้นที่ลาดชัน พื้นที่เชิงลาดแหล่งน้ำไหล่ทาง พื้นที่ดินเสื่อมโทรมและดินที่มีปัญหา พื้นที่แหล่งเรียนรู้ และขยายผลความยั่งยืน และหน่วยงานและส่วนราชการที่ร่วมส่งเสริมการปลูก และขยายผลการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ มีผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 14 ผลงาน
ประเภทที่สอง เป็นการส่งเสริมหัตถกรรมผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก จำนวน 20 ผลงาน แบ่งออกเป็น ด้านความคิดสร้างสรรค์ ด้านออกแบบและถ่ายทอดองค์ความรู้ผลิตภัณฑ์ มีผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 11 ผลงาน
ท้ั้งนี้ บมจ. ปตท. (PTT) ได้ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และ กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินโครงการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก อันเนื่องมาจากพระราชดำริติดต่อกันเป็นปีที่ 16 เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ส่งผลให้เกิดการขยายผลการปลูกและใช้ประโยชน์หญ้าแฝกอย่างแพร่หลายในภาคประชาชน ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ มีแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับสถาบันการศึกษา หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ให้เกิดการตื่นตัวหันมาปลูกหญ้าแฝกเพิ่มมากขึ้น เกิดการรวมตัวเป็นเครือข่ายคนรักษ์แฝก ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมถึงต่อยอดจากรากสู่ใบ นำมาใบหญ้าแฝกมาออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ทันสมัย เป็นผลิตภัณฑ์ครัวเรือน กระเป๋า ฯลฯ วางจำหน่ายภายใต้แบรนด์ "ภัทรพัฒน์" ของมูลนิธิชัยพัฒนา ช่วยเสริมสร้างรายได้และพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนอีกด้วย