552 จำนวนผู้เข้าชม |
กรมสรรพากร ได้เปิดเผย "คู่มือภาษีคริปโท" เพื่อให้คำแนะนำสำหรับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา "คริปโทเคอร์เรนซี / โทเคนดิจิทัล" สรุปสาระสำคัญได้ 3 ประเด็น คือ
ประเด็นแรก การจัดประเภทเงินได้ให้ชัดเจน โดยระบุประเภทเงินได้ และผลประโยชน์ให้ครอบคลุมกำไร รายได้จากการโอน ผลประโยชน์อื่นใดจากคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล
โดยกรมสรรพากร นิยามคำว่า “คริปโทเคอร์เรนซี" หมายความถึง หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบ หรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนด
ส่วน "โทเคนดิจิทัล" หมายความถึง หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบ หรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. กําหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการ หรือกิจการใด ๆ
2. กําหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ตามที่กําหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามที่ ก.ล.ต.ประกาศกําหนด
ประเด็นที่สอง สาเหตุในการเก็บภาษี โดยหลักการแล้ว เงินได้จากการขายคริปโทเคอร์เรนซี ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรอยู่แล้ว ดังนั้นผู้มีกําไรจากการขายคริปโทเคอร์เรนซี จึงมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร
อย่างไรก็ดี พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ได้มีการจัดประเภทเงินได้ใหม่ จากเดิมที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) เปลี่ยนไปเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) เพื่อให้สะท้อนลักษณะของเงินได้ เนื่องจากเงินได้จากการขายคริปโทเคอร์เรนซีมีลักษณะเป็นเงินที่ได้รับจากการลงทุน ซึ่งภายหลัง พ.ร .ก. ฉบับดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายปี 2561 กรมสรรพากรได้ประชาสัมพันธ์ประเด็นนี้ มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เสียภาษีได้รับโทษในภายหลัง อันเนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ทางภาษีอย่างถูกต้อง
โดยผู้ที่มีหน้าที่ยื่นแบบภาษีเงินได้จากคริปโทเคอเรนซี คือ ผู้มีเงินได้จากคริปโทเคอร์เรนซี / โทเคนดิจิทัล ใน 5 ลักษณะ คือ
1. การจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี / โทเคนดิจิทัล
2. การขุดคริปโทเคอร์เรนซี
3. การได้รับคริปโทเคอร์เรนซี / โทเคนดิจิทัล เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง
4. การให้ หรือได้รับ คริปโทเคอร์เรนซี / โทเคนดิจิทัล เป็นรางวัล
5. การได้รับผลประโยชน์ หรือ ผลตอบแทนจากการถือครองโทเคนดิจิทัล และคริปโทเคอร์เรนซี
ทั้งนี้ การได้รับคริปโทมาในแบบ 1 และ 2 คือ การจำหน่าย จ่าย โอน แลกเปลี่ยน และการขุด นั้น จะสามารถ "เลือกวิธีคำนวนต้นทุน" เพื่อนำไปจ่ายภาษีได้ 2 แบบ (แต่เลือกวิธีใดแล้ว ต้องใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี)
วิธีแรก เข้าก่อนออกก่อน (FIFO) คือการคำนวณคริปโทที่ซื้อมาก่อนจะขายออกไปตามลำดับ ทำให้รายการคริปโทที่เหลืออยู่ ณ วันสุดท้าย เป็นคริปโทที่ซื้อมาครั้งหลังสุด วิธีที่สอง ถัวเฉลี่ยต้นทุนเคลื่อนที่ (The moving average cost) คือ การกำหนดจากการถัวเฉลี่ยต้นทุนคริปโทประเภทเดียวกัน "ณ วันต้นปี" กับต้นทุนของคริปโทที่ซื้อมา "ระหว่างปี" โดยต้องคำนวณทุกครั้งที่ซื้อคริปโท
ส่วนการได้มาซึ่งคริปโทข้อ 3 - 5 ให้ใช้วิธีการคำนวณต้นทุนแบบถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. และให้เลือกใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี
ทั้งนี้ การวัดมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซี / โทเคนดิจิทัล เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มาเพื่อให้ผู้เสียภาษีเกิดความเข้าใจและสามารถนำไปใช้เป็นคู่มือประกอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 เท่านั้น คู่มือนี้จึงมิได้ครอบคลุมประเด็นภาษีอื่นๆ เช่น ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับประเด็นที่สาม เป็นตัวอย่างในการคำนวณภาษี ซึ่งผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียด และศึกษาข้อมูล และดาวน์โหลดคู่มือภาษีคริปโท ได้เพิ่มเติม ผ่านลิงค์ https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/lorkhor/information/manual_crypto_310165.pdf