321 จำนวนผู้เข้าชม |
สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดลมีนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัยสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายใน 9 ปี จึงกำหนดแผนปฏิบัติการ "9 to Zero" หรือ "ก้าวสู่ศูนย์" โดยตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกเป็น 3 ระยะ ระยะแรก ลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 65 % ในปี 2567 ระยะที่ 2 ลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 85 % ในปี 2570 และระยะที่ 3 ลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 100 % ภายในปี 2573
เพื่อเริ่มต้นก้าวแรกของแผนปฏิบัติการ "9 to Zero" มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จึงมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ บริษัท เอสพีพี ซิค จำกัด ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคาร หรือ โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) ขนาด 14 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 12 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 10,487 ตัน (คิดเป็น 21%) ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมจะขยายพื้นที่การติดตั้ง Solar Rooftop ไปยังวิทยาเขตอื่นๆ เพื่อร่วมเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งช่วยขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action)
สำหรับ บริษัท เอสพีพี ซิค เป็นบริษัทย่อยของ บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) พร้อมเดินหน้าติดตั้ง Solar Rooftop ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 โดยจะได้สัญญาขายไฟฟ้าให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ระยะเวลาขายไฟฟ้าตามสัญญาทั้งหมด 13 ปี 6 เดือน
ที่สำคัญ บริษัทย่อยของ SUPER มีจุดเด่นเรื่องการนำนวัตกรรมการออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีล่าสุดที่ทันสมัย สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และมีระบบกักเก็บพลังงานเพื่อเก็บไฟฟ้าส่วนเกิน ทำให้การใช้ไฟฟ้าไม่มีการสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งยังมีระบบเครือข่ายอัจฉริยะที่สามารถควบคุม สั่งการ และเฝ้าติดตามระบบแบบออนไลน์ จากศูนย์ควบคุม ผ่านระบบเครือข่ายสื่อสารแบบไร้สายที่สามารถส่งข้อมูลทางไกลได้ (LoRa-Wan) โดยใช้สัญญาณวิทยุ ซึ่งเหมาะกับการใช้งานภายในมหาวิทยาลัยที่มีพื้นที่ครอบคลุมเป็นวงกว้าง และยังช่วยให้สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี