แม้ดีล BAY ซื้อพอร์ตสินเชื่อรายย่อย จะส่งผลดีต่อธุรกิจ แต่ราคาหุ้นไม่มี upside แล้ว

321 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แม้ดีล BAY ซื้อพอร์ตสินเชื่อรายย่อย จะส่งผลดีต่อธุรกิจ แต่ราคาหุ้นไม่มี upside แล้ว

 
หลังจากที่สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ออกมาเปิดเผยว่า บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ชนะการประมูลซื้อพอร์ตธุรกิจสินเชื่อรายย่อย (บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล) ของซิตี้กรุ๊ป (Citi Group) ในประเทศไทย พร้อมทั้งรายงานด้วยว่า มูลค่าของธุรกรรมครั้งนี้ น่าจะอยู่ที่ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.75 หมื่นล้านบาท

ในเบื้องต้น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายค่าย ออกมายอมรับว่า ดีลครั้งนี้น่าจะส่งผลบวกกับ BAY 

โดยค่ายโนมูระ พัฒนสิน (CNS) และเคจีไอ (KGI) มองคล้ายๆ กันว่า มูลค่าในการซื้อขายถือว่าไม่แพง เพราะคิดเป็น P/BV ที่ราว 1.9 เท่า เมื่อเทียบกับ KTC, AEONTS ที่ปัจจุบันซื้อขายกันที่ P/BV ราว 5.5 เท่า และ 2.6 เท่า ตามลำดับ แต่เนื่องจากยังไม่มีกรอบเวลาที่ ชัดเจนสำหรับการโอนย้ายพอร์ตลูกค้าจาก Citi Group มาที่ BAY จึงยังไม่อาจประเมินผลบวกจากดีลนี้ได้อย่างชัดเจน นอกจากชี้ประเด็นว่า หาก BAY ถ่ายโอนพอร์ตเข้ามาได้เร็ว จะทำให้รายได้กลับมาเติบโตได้เร็วเช่นกัน เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อ Citi group เป็นพอร์ตที่ให้ผลตอบแทนต่อทุน หรือ ROE สูงมาก

กระนั้น CNS กลับเลือก SCB กับ KBANK เป็น Top pick ของหุ้นกลุ่มธนาคาร เพราะเป็นผู้นำด้านการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกมากขึ้น ช่วยลดโอกาสการเกิด NPL และลดแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายสำรองได้ในอนาคต ประกอบกับทั้ง 2 ธนาคารได้มีการเร่งตั้งสำรองล่วงหน้าไปมากแล้ว สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากภาคธุรกิจ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ทั้ง 2 ธนาคาร ยังเป็นผู้นำด้าน digital banking และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจธนาคารให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

ด้านไอร่า (AIRA) มองว่าดีลนี้จะทำให้ส่วนแบ่งตลาดในตลาดสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลของ BAY เพิ่มจาก 18% ของมูลค่าตลาดรวม ประมาณ 1 ล้านล้านบาท เป็น 25% ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของ BAY ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกลุ่มลูกค้าของทั้ง 2 ธนาคารมีความใกล้เคียงกัน ทำให้สามารถ Cross selling Product ได้ง่าย  

อย่างไรก็ตาม กับระดับราคาหุ้น BAY ปัจจุบันที่แกว่งตัวบริเวณ 35-36 บาท น่าจะสะท้อนประเด็นการซื้อพอร์ตสินเชื่อครั้งนี้ไปบ้างแล้ว จึงเหลือ Upside ไม่มาก คงแนะนำเพียงแค่ "ถือ" 

AIRA ยังประเมินแนวโน้มผลดำเนินงานงวดไตรมาสสุดท้ายปีนี้ด้วยว่า คาดกำไรสุทธิของ BAY จะลดลงจากไตรมาส 3 ก่อนหน้า (QoQ) ผลของปัจจัยฤดูกาล และธนาคารยังอยู่ในโหมดเฝ้าระวังสินเชื่อ

ขณะที่ ฟิลลิป (PLS) คงประมาณการกำไรปี 64–65 ตามเดิม โดยปีนี้ คาดว่าจะมีกำไร 34 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% จากปีก่อน (YoY) แต่ปีหน้า คาดกำไรจะลดลง 23% (YoY) เหลือ 26 พันล้านบาท เพราะไม่มีกำไรพิเศษเหมือนปีนี้ พร้อมคงราคาพื้นฐานที่ 35 บาทตามเดิม 

อย่างไรก็ตาม การที่ BAY จะยังคงได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ ซึ่งเป็นธนาคารระดับโลก น่าจะทำให้ BAY เติบโตต่อได้ จึงแนะนำ "ทยอยซื้อ"

สำหรับราคาเหมาะสมของ BAY ตาม  Bloomberg Consensus ล่าสุด อยู่ที่ 35 บาท

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้