SVI พลิกวิกฤตจากมาตรการภาษีทรัมป์ 2.0 เป็นโอกาส ทั้งการตั้งฐานผลิตในอเมริกา และจับมือผู้ผลิต PCB จีน Top 50 ของโลก กระจายฐานรายได้

1755 จำนวนผู้เข้าชม  | 

SVI พลิกวิกฤตจากมาตรการภาษีทรัมป์ 2.0 เป็นโอกาส ทั้งการตั้งฐานผลิตในอเมริกา และจับมือผู้ผลิต PCB จีน Top 50 ของโลก กระจายฐานรายได้




นายกริช ลี้ถาวร ผู้บริหารด้านการเงิน บมจ. เอสวีไอ (SVI) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทวงจรไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิคส์สำเร็จรูปให้แก่ลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (OEM) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้มีการเตรียมพร้อมบริหารความเสี่ยงจากนโยบายกำแพงภาษีของอเมริกา ยุคทรัมป์ 2.0 ล่วงหน้าแล้ว ด้วยการตั้งฐานการผลิตสินค้าประเภทวงจรไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป (EMS) ให้กับลูกค้าที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้นแบบในอเมริกา โดยมีกำลังการผลิตคิดเป็นมูลค่าราว 100-110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน ซึ่งล่าสุด ฐานการผลิตแห่งนี้ได้เริ่มผลิตสินค้าแล้ว ถือเป็นการบริหารความเสี่ยงจากนโยบายกำแพงภาษีของอเมริกาในระดับหนึ่ง พร้อมกับเปิดโอกาสในการขยายธุรกิจในตลาดอเมริกาที่มีศักยภาพการเติบโตสูงในระยะกลางถึงยาวได้อีกด้วย ทำให้เชื่อมั่นว่า จะสามารถผลักดันการเติบโตของยอดขายทั้งปีได้ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามแผนที่วางไว้

และล่าสุด บริษัทฯ ได้จับมือกับพันธมิตรจากจีน China Circuit Technology (Shantou) Corporation (CCTC) ผู้ผลิต PCB ชั้นนำของจีน ติด Top 50 ของโลกจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อผลิตแผ่นพิมพ์วงจร (PCB) ประเภท Multilayer และ High Density Interconnect (HDI) กำลังการผลิตรวมปีละ 360,000 ตารางเมตร ในพื้นที่อุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี มูลค่าการลงทุนประมาณ 3,889 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ถือหุ้นใหญ่ ในสัดส่วน 75% ผ่านบริษัทย่อย แอดวานซ์ อินเตอร์คอนเนคชั่น เทคโนโลยี  

แบ่งการลงทุนออกเป็น 2 เฟส เฟสแรก ตั้งเป้ากำลังการผลิตปีละ 204,000 ตารางเมตร ในปี 2571 เพราะต้องใช้เวลาก่อสร้างโรงงาน ติดตั้งเครื่องจักรและทดสอบระบบ ประมาณ 15 เดือน ก่อนจะเริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ จนเต็มกำลังการผลิต และเมื่อโรงงานเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต ค่อยเดินหน้าเฟส 2 เพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีกปีละ 156,000 ตารางเมตร เป็น  360,000 ตารางเมตร กำหนดเดินเครื่องผลิตเต็มกำลังในปี 2573

สำหรับเบื้องลึกความร่วมมือครั้งนี้ เกิดจากความต้องการทั้ง 2 องค์กรที่สอดคล้องกัน โดย CCTC ต้องการฐานการผลิตต่างประเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ และลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า ส่วนบริษัทฯ ต้องการเพิ่มศักยภาพของห่วงโซ่อุปทานในประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถรอบรับความต้องการของลูกค้าทั่วโลก โดยอาศัยประสบการณ์และเทคโนโลยีจากพันธมิตร รวมถึงกระแสความสนใจของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจีน ที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เพราะมีความได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐานการผลิตที่โดดเด่น และอัตราภาษีที่อาจถูกเรียบเก็บเพิ่มที่ต่ำกว่าจีน และประเทศเพื่อนบ้าน

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้